จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ดึงสถานประกอบการเป็นเครือข่ายดูแล สวล.

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ห้องบอน-ไม้ท่อน โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สถานประกอบการได้รับทราบสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา รวมทั้งเพื่อยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานที่กำหนด โดยมีตัวแทนจากสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมจำนวน 40 แห่ง
นายณฐวรรณ จำลองกาศ หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่สำนักงานทรัพยากรฯ ได้ออกติดตามตรวจสอบ การดำเนินงานด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการต่างๆ โดยการสุ่มตรวจและออกตรวจสอบจากการสมัครเข้าร่วมประกวดสถานประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อมดีเด่น เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสถานประกอบการบางส่วนยังดำเนินการในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้องเท่าที่ควร ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสำคัญระดับโลก จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละประมาณ 5-6 ล้านคน และรัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านคน
จังหวัดภูเก็ตจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านพักของนักท่องเที่ยวที่จะต้องดูแลจัดการให้สวยงาม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้น
นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.ภูเก็ต กล่าวเสริมว่า จากความสวยงามทรัพยากรธรรมชาติ และมีผู้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมากมาย เช่น ปัญหาขยะมูลฝอยล้นเมือง ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ปัญหาการบุกรุกยึดครองพื้นที่ของรัฐ เพื่อแปรสภาพเป็นสถานที่รองรับการท่องเที่ยว ปัญหาประชากรแฝง เป็นต้น
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข่างวิกฤตของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีปริมาณขยะโดยเฉลี่ย 550 ตันต่อวัน ในขณะที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ตมีขีดความสามารถในการเผากำจัดขยะอยู่ที่ 250 ตันต่อวัน จึงมีขยะเหลืออีกจำนวน 300 ตันต่อวัน ที่จะต้องนำไปฝังกลบ ณ บ่อฝังกลบ ซึ่งมีอยู่จำนวน 5 บ่อ และสถานการณ์ของบ่อฝังกลบขณะนี้เต็มทุกบ่อ แต่แนวโน้มของปริมาณขยะก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี มีอัตราเฉลี่ยปีละ 7% คาดว่าในปี 2560 จังหวัดภูเก็ตจะมีปริมาณขยะอยู่ที่ 900 ตันต่อวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การจัดการที่ต้นทาง เช่น บ้านเรือน สถานประกอบการ เป็นต้น การจัดการระหว่างทาง เป็นการดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องของการเก็บขน และการจัดการที่ปลายทาง ด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ย ทำไบโอแก๊ส ทำน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น นายสุเมธ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น