จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ภูเก็ตซ้อมแผนอพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเขตร้อน




เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ที่บริเวณลานจอดรถศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายเสรี พาณิชย์กุล ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการซ้อมแผนอพยพผู้ประสบสาธารณภัย ประจำปี 2557 กรณีช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) และคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2557 


โดยมีนายสันติ์ จันทรวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ นายกเทศบาลตำบลวิชิต ผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ ศูนยืป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต ประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยหมู่ที่ 6, 7 และ 8 ตำบลวิชิต กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน พนักงานในสถานประกอบการโรงแรม นักเรียนในเขตเทศบาล องค์กรมูลนิธิ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ร่วมบูรณาการ เช่น ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจ สภ.วิชิต เป็นต้น และผู้ร่วมสังเกตการณ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งการฝึกซ้อมครั้งนี้ดำเนินการพร้อมกันกับ จ.กระบี่และตรังด้วย 


สำหรับการซ้อมในครั้งนี้ได้สมมุติสถานการณ์ ว่า ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ ได้รับแจ้งว่า พายุไซโคลน ADM จะพัดเข้าฝั่งที่ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ที่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ และปลายพายุได้พัดผ่าน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่งและพายุลมแรง จึงได้ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละจังหวัด ทำการอพยพประชาชนในพื้นที่ที่พายุพัดผ่านและฝนตกหนักไปยังที่ปลอดภัย 


โดยในส่วนของ จ.ภูเก็ตได้ทำการอพยพประชาชนไปยังโรงแรมอ่าวน้ำบ่อ ซึ่งห่างจากชายฝั่งประมาณ 5 กม. ต่อมาทางจังหวัดภูเก็ตได้แจ้งว่าเกิดเรือนักท่องเที่ยวอับปางขณะทำการอพยพไปสู่ที่ปลอดภัยบริเวณอ่าวมะขาม โดยมีนักท่องเที่ยวลอยคออยู่ในทะเลจำนวน 10 คน จึงได้มีการสั่งการให้ออกไปช่วยเหลือนำกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย จากนั้นได้ส่งตัวไปยังจุดปลอดภัยที่โรงเรียนอ่าวน้ำบ่อเพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป 


นายสันติ์ จันทรวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันสาธารณภัยที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งเป็นสาธารณภัยที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดในเขตชุมชนที่มีทั้งสถานประกอบการและอาคารบ้านเรือน หรือหากเกิดเหตุในเวลากลางคืน จะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลจนไม่อาจประเมินค่าได้ อาทิ มหาภัยพิบัติจากพายุหมุนนาร์กิส ที่ถล่มประเทศพม่า 


สำหรับประเทศไทยเคยเกิดปรากฎการณ์ คลื่นพายุซัดฝั่งมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เช่น พ.ศ.2505 พายุที่แหลมตะลุมพุก อันเกิดจากพายุโซนร้อนแฮเรียต มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน ปี 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่ จ.ชุมพร ปี 2540 พายุลินดา ถล่ม จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี เป็นต้น 


ด้วยเล็งเห็นความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมเพื่ออพยพประชาชนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดสถานการณ์จริง และให้ประชาชนได้รับทราบ มีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น จึงได้มีการจัดทำโครงการซ้อมแผนอพยพผู้ประสบสาธารณภัย ประจำปี 2557 ดังกล่าวขึ้น 


เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะ ประสบการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการรับสถานการณ์ กรณีเกิดภัยจากพายุหมุนเขตร้อน และคลื่นพายุซัดฝั่ง, เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานของรัฐ องค์กรมูลนิธิที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและจัดการภัยพายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่งอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ประชาชน ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกี่ยวกับระบบการป้องกันและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง นายสันติ์กล่าว 


ขณะที่นายเสรี พาณิชย์กุล ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะชาวตำบลวิชิตที่ได้ร่วมแรงร่วมใจเข้าร่วมฝึกซ้อมฯ จะได้เกิดความอุ่นใจในความปลอดภัย ตลอดจนได้เห็นถึงความพร้อมในการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการพลเรือน นอกจากยังจะได้ทำให้เข้าใจถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น