จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สร้างความเข้าใจแนวปฏิบัติให้กับสภาวัฒนธรรม



เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ที่ห้องสวนหลวง โรงแรมคาทีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมสร้างความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานของสภาวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น 


เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานของสภาวัฒนธรรม และบทบาทหน้าที่ของสภาวัฒนธรรมและความสำคัญของการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยมีประธานและสมาชิกสภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต สภาวัฒนธรรมอำเภอกะทู้ สภาวัฒนธรรมอำเภอถลาง สภาวัฒนธรรมตำบล และสภาวัฒนธรรมเทศบาลตำบล เข้าร่วม จำนวน 100 คน สำหรับจังหวัดภูเก็ต มีสภาวัฒนธรรมทั้งหมด 21 แห่ง แบ่งเป็น สภาวัฒนธรรมจังหวัด 1 แห่ง สภาวัฒนธรรมอำเภอ 3 แห่ง สภาวัฒนธรรมตำบล 16 แห่ง และสภาวัฒนธรรมเทศบาลตำบล 1 แห่ง 


นางอุไร เลอศักดิ์อนุสรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม กล่าวว่า พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 และมาตรา 13 กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรม ประกอบด้วย สภาวัฒนธรรมตำบล สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมจังหวัด และสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กฎกระทรวงที่ออกตามในความมาตราดังกล่าว กำหนดการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมเพิ่มเติม ประกอบด้วย สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมเขต สภาวัฒนธรรมแขวง สภาวัฒนธรรมเทศบาล สภาวัฒนธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ และสภาวัฒนธรรมในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และประสานการดำเนินงานวัฒนธรรม ซึ่งภาคประชาสังคมและประชาชนมีส่วนร่วม โดยสภาวัฒนธรรมทุกระดับที่จัดตั้งขึ้น มีสถานภาพเป็นองค์กรภาคเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม 


สำหรับสภาวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ตลอดจนการนำนโยบายด้านวัฒนธรรมไปสู่การขับเคลื่อนและปฏิบัติ ในพื้นที่ให้เกิดมรรคผล เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป อีกทั้งยังเป็นองค์กร ที่เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานวัฒนธรรมจากระดับท้องถิ่นขึ้นสู่ภาคราชการ เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายและแผนแม่บทวัฒนธรรมของชาติให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมท้องถิ่น จึงได้มีการจัดประชุมดังกล่าวขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานของสภาวัฒนธรรม และบทบาทหน้าที่ของสภาวัฒนธรรมและความสำคัญของการดำเนินงานวัฒนธรรม นางอุไรกล่าว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น