จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้ว่าลงพื้นที่ตรวจน้ำสีดำไหลลงทะเลหาดกะรน



เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ที่บริเวณริมทะเลหาดกะรน ปากอ่าวคลองหนองหาน หมู่ 1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 (ภูเก็ต) นายเกษม สุขวารี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายวินัย พรหมจันทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 



ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาแนวทางการแก้ปัญหา กรณีมีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนว่ามีการปล่อยน้ำเสียลงมาในลำคลองหนองหานและมีน้ำเสียไหลลงทะเล โดยมีนายสมปอง ดาบเพชร รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน นายวันชัย แซ่ตัน ผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลตำบลกะรน นายวินัย ชิดเชี่ยวตำบลกะรน นายพิมุข สอนมี ผู้จัดการโครงการบำบัดน้ำเสียเทศบาลตำบลกะรน ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องนำตรวจสอบพื้นที่และชี้แจงข้อมูล 


สภาพพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุ เป็นแอ่งน้ำที่รับน้ำจากคลองหนองหาน โดยมีร่องน้ำธรรมชาติเชื่อมต่อกับทะเลชายหาดกะรน ซึ่งสภาพน้ำที่ไหลออกมาจากแอ่งน้ำดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีสีดำบ้างแต่น้อยกว่าเมื่อวานนี้ซึ่งมีสีดำมาก และยังพบคราบสีดำติดอยู่บริเวณหาดทราย และในจุดดังกล่าวจะไม่มีนักท่องเที่ยวเล่นน้ำแต่อย่างใด โดยห่างออกไปประมาณ 50 เมตร มีนักท่องเที่ยวนอนอาบแดดและลงเล่นน้ำเป็นจำนวนมาก 


นายไมตรี กล่าวภายหลังการตรวจสอบพื้นที่ และทดสอบเอาน้ำที่ไหลมาจากคลองดังกล่าวก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลมาลูบตามมือและแขน เพื่อยืนยันว่าน้ำดังกล่าวไม่มีปัญหา หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจากการตรวจสอบค่าบีโอดี (ค่าความสกปรก ) ต่ำกว่ามาตรฐาน ว่า จากการตรวจสอบและข้อมูลการตรวจสอบค่าบีโอดีของน้ำ พบว่า สาเหตุที่น้ำมีสีดำจากไหลออกมาจากคลองดังกล่าวลงทะเล เกิดจากตะกอนที่ทับถมอยู่ในลำคลอง 


และเมื่อมีน้ำเป็นจำนวนมากก็ทำให้น้ำทะลักและไหลออกมาสู่ทะเลมีสีดำ จึงดูเหมือนกับเป็นน้ำเน่า ส่วนการวัดค่าบีโอดีของย้ำในบริเวณดังกล่าวพบว่า ยังต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก จึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย และเมื่อตรวจสอบบริเวณปลายน้ำก่อนจะไหลลงทะเล พบว่ายังมีความใส มีปลาเล็กปลาน้อยว่ายอยู่ และจากการที่ตนเอาน้ำมาลูบตามมือและแขนก็ไม่มีกลิ่นหรือมีอาการคันแต่อย่างใด และยังไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว 


“แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นได้สั่งการให้ทางเทศบาลตำบลกะรนขุดลอกเอาตะกอนสีดำในลำคลองดังกล่าวขึ้นมา และให้นำอีเอ็มบอลมาโยน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสีย รวมทั้งให้หาวิธีการเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ก็จะได้ไปตรวจสอบบริเวณต้นน้ำและกลางน้ำว่ามีโรงแรมหรือสถานประกอบการหรือบ้านเรือนใดปล่อยน้ำเสียลงมาในลำคลอง 


รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เช่น การจัดทำบ่อดักไขมัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ได้สั่งการให้ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 15 และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ มาตรวจสอบน้ำเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันก็จะให้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมาตรวจสอบตามกฎหมายของอุตสาหกรรม” 


นายไมตรี กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือของภาคประชาชนหรือมวลชน เพราะเชื่อว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบ้านเรือนที่มีการปล่อยน้ำเสียลงมา ซึ่งส่วนนี้ก็จะต้องดูแลร่วมกัน โดยการนำน้ำเสียเข้าระบบบำบัดรวมของเทศบาลฯ ซึ่งสามารถรับได้วันละประมาณ 6,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ยังมีการบริหารจัดการอยู่ แต่ก็มีบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในช่วงไอซีซั่นซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ทำให้มีน้ำเสียเข้าระบบมากถึงวันละ 8,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลตำบลกะรน อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับน้ำเสียได้ครอบคลุมเต็มทั้งพื้นที่ 


ขณะที่นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 (ภูเก็ต) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่เพิ่มเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ และจากการวัดระดับค่าบีโอดีก็ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องของทัศนอุดจาด เนื่องจากน้ำซึ่งมีสีดำ อันเกิดจากตะกอนที่ทับถม และแนวทางการแก้ปัญหาคือ ให้มีการขุดลอกนำตะกอนดังกล่าวขึ้นมา รวมทั้งการบำบัดโดยธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น