จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ศุลกากรภูเก็ตทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ฯ



เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ที่ด่านศุลกากรภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วยนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นประธานในพิธีทำลายของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า หลังจากคดีสิ้นสุดแล้ว 44 คดี จำนวน 9,762 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 29 ล้านบาท 


มีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าสะพาย โทรศัพท์มือถือ รองเท้ากีฬา แว่นตากันแดด ฝาครอบเบรกรถยนต์ และอื่นๆ อีกหลายรายการ ที่ทางด่านศุลกากรภูเก็ต สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 และหน่วยสืบสวนปราบปรามภูเก็ต สามารถจับกุมได้ในรอบปีงบประมาณ 2555 โดยการทุบทำลายของกลางได้ใช้วิธีการทุบ บด ทำให้แตกหักและใช้มีดตัดกรีดให้ฉีกขาด ก่อนนำไปเผาไฟที่โรงเตาเผาขยะ เทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ร่วมเป็นสักขีพยาน 


นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากที่ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมศุลกากรที่ประจำการอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เร่งรัดปราบปรามสินค้าที่ลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และปกป้องสังคม รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ซึ่งในรอบปีงบประมาณ 2555 เฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถจับกุมสินค้าประเภทละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า จำนวน 44 คดี มูลค่าความเสียหาย 28,938,665 บาท และคดีได้สิ้นสุดแล้ว


“การจัดให้มีพิธีทำลายของกลางหลังจากคดีสิ้นสุด เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้เจ้าของสิทธิทราบถึงนโยบายของกรมศุลกากร ที่เร่งรัดปราบปรามอย่างเข้มงวด และแสดงให้เห็นถึงการคุ้มครองสิทธิ อันชอบธรรม ของการค้าที่สุจริต อันจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ต่อสังคมการค้าโลก นอกจากภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเร่งรัดปราบปรามเช่นกัน” 


นางเบญจา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กระทำผิดฐานลักลอบนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 27 , 27 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2428 ซึ่งมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของรวมค่าอากรหรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ 


และมาตรา 27, 28, 29 ประกอบมาตรา 31(4) แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และมาตรา 108, 109 ประกอบมาตรา 110 แห่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกรมศุลกากรและตามความตกลง TRIPs (Agreement on Trade-Related Aspect of Intellectual Property Rights) ที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก 


ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือด้านการข่าวทางลับที่มีการส่งถึงกัน และเรื่องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอภาพข่าวให้ประชาชนได้รับทราบว่า จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้เดินตามกฎกติกาและกฎหมาย สิ่งสำคัญ คือ ความยอมรับของนานาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเมืองท่องเที่ยว 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น