จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตำรวจน้ำภูเก็ต ติวเข้มผู้ประกอบการประมงและนำเที่ยว



เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ที่ห้องประชุมกองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พ.ต.ท.ประเสริฐ ศรีคุณรัตน์ รอง ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และป้องกันการปราบปรามยาเสพติด โดยมีผู้ประกอบกิจการประมง และผู้ประกอบกิจการเรือเดินทะเล ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจน้ำ3 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม 


พ.ต.ท.ปัญญา ชัยชนะ สารวัตร (ทำหน้าที่ปราบปรามทางน้ำ) สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประชุมผู้ประกอบการกิจการประมงและผู้ประกอบกิจการเรือเดินทะเล เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงานใน เรื่อง 


การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และป้องกันการปราบปรามยาเสพติด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีกองบังคับการตำรวจน้ำร่วมด้วย และได้มีข้อสั่งการให้เร่งดำเนินการจัดประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จ 


จากนโยบายดังกล่าว สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำภูเก็ต จึงจัดประชุมผู้ประกอบกิจการประมง และผู้ประกอบการเรือเดินทะเลขึ้น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการประมงและผู้ประกอบกิจการเรือเดินทะเลในเขตรับผิดชอบ และเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายผู้บังคับบัญชาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสำเร็จตามเป้าหมาย ในเรื่องการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และป้องกันปราบปรามยาเสพติด พ.ต.ท.ปัญญากล่าว


ขณะที่พ.ต.ท.ประเสริฐ ศรีคุณรัตน์ รอง ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม ว่า ที่ผ่านมาในส่วนของพื้นที่ซึ่งทางกองกำกับการ 8 รับผิดชอบ ยังไม่พบปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจะอยู่ในพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทย เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี เป็นต้น เนื่องจากแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอยู่บนเรือเป็นเวลานาน 7-8 เดือน 


โดยจะถูกส่งไปอินโดนีเซียหรือว่าไกลสุดประเทศออสเตรเลีย ทำให้แรงงานบางส่วนต้องการกลับบ้าน หรือไม่อยากทำ แต่ไม่สามารถเดินทางกลับเข้าฝั่งได้ ซึ่งลักษณะการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานเรือประมง เช่น หลอกลวงทั้งแรงงานคนไทยหรือพม่า ว่าได้เงินเดือนดี เป็นต้น แต่เมื่อทำงานจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงกัน บางส่วนถูกทำร้ายบังคับขู่เข็ญ เป็นต้น ซึ่งจะมีข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำทั่วโลกมองว่าประเทศไทยเกิดปัญหานี้ขึ้นได้อย่างไร 


ซึ่งในข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่า การทำประมงในทะเลลึกต้องใช้เวลาอยู่บนเรือเป็นระยะเวลานานแรมปี ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับค่อนข้างสูง ดังนั้นจะต้องสมดุลกันในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับเรือประมงในภูเก็ต เพราะเรือที่ออกไปทำประมง จะใช้เวลาประมาณ 3-8 วัน จากนั้นก็จะเข้าฝั่งและออกไปใหม่ หนุนเวียนไป 


“ในส่วนที่มีการตรวจพบ จะเป็นเรื่องของยาเสพติด ซึ่งมาตรการเชิงรุกที่ทางตำรวจน้ำได้ดำเนินการ จะมีการออกสุ่มตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าทั้งก่อนที่เรือจะออกจากท่า และกลับเข้าฝั่ง เพื่อเป็นการป้องปราม เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบในการนำนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวทางทะเล และจากการตรวจสอบจะพบการเสพยาเสพติดประเภทยาบ้า ในกลุ่มลูกเรือนำเที่ยวหรือเรือเร็ว ส่วนลูกเรือประมงจะมีบ้างเล็กน้อย เนื่องจากกำลังซื้อน้อยแต่ที่พบจะเป็นประเภทกัญชา” พ.ต.ท.ประเสริฐ กล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น