จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ติวเข้มบุคลากรดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง



เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ที่ห้องประชุมมะฮอกกานี โรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต อ.เมือง ภูเก็ต นายแพทย์นรา กิ่งแก้ว รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง: CAPD” โดยมีนายแพทย์สุธีร์ กิตตธรกุล นายแพทย์ชำนาญการอายุรศาสตร์ (โรคไต) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และคณะพยาบาล บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์วชิระ เข้าร่วมการอบรม 


นายแพทย์สุธีร์ กิตติธรกุล นายแพทย์ชำนาญการอายุรศาสตร์ (โรคไต) กล่าวว่า จากทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้มีนโยบายในการบรูณาการจัดการโรคไตเรื้อรังและจัดตั้งคลินิกโรคไตเรื้อรัง ในสถานบริการของทุกจังหวัด เพื่อช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีผู้ป่วยเข้าโครงการ CAPD จำนวน 289 คน และคงมีชีวิตเหลือ 171 คน 


จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง: CAPD เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ทักษะ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทกแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องได้ถูกต้องตามมาตรฐาน 


รวมทั้งพัฒนาระบบงานสาขาไตและวางระบบเครือข่ายให้มีส่วนร่วมดูแลรักษาและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ โดยมีพยาบาล บุคลากรทีมสุขภาพของโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และพังงา จำนวน 60 คน เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ 


ด้านนายแพทย์ นรา กิ่งแก้ว รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต ได้กล่าวว่า นอกจากนี้ในการจัดประชุมอบรมครั้งนี้จะเป็นเวทีเพื่อพัฒนาศักยภาพและการสร้างเครือข่างการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ในแต่ละระยะตั้งแต่เริ่มเป็นหรือกลุ่มเสี่ยงจนเข้าสู่โรคไตระยะสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตการล้างไตทางช่องท้องให้มีประสิทธิภาพ และการลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และเป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข


นพ.นรา กล่าวด้วยว่า โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก สาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยเกิดจากโรคเบาหวาน และภาวะความดันโลหิตสูง จากรายงานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2555 พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการบำบัดทดแทนไต มีประมาณ 30,000 ราย อุบัติการณ์ของโรคกลุ่มนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องรักษาโดยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 


ดังนั้นการจัดระบบดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ และการดูแลอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนถึงระดับการให้บริการผู้ป่วยในชุมชน ติดตามเยี่ยมบ้านในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการตาย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น