จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนภูเก็ตเห็นด้วยสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 53 ที่ห้องประชุม โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป โครงการการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าลาดกระบัง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับความสนใจจากสถานประกอบการโรงแรม องค์กรเอกชน มูลนิธิ NGO หน่วยงานราชการและประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมแสดงความเห็น


สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็น และรายละเอียดโครงการเบื้องต้น นำเสนอขอบเขตและวิธีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะต่อร่างองค์ประกอบโครงการ และขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการ รวมทั้งแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อนำข้อเสนอแนะที่ได้ ไปจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบรายละเอียดศูนย์ประชุมฯ ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป


โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.153 (บางส่วน) หาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เป็นแหล่งงานและกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่นจากการดำเนินโครงการ พัฒนาที่ราชพัสดุ เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้กับภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับภาครัฐและภคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ(MICE) เพื่อให้เป็นศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติที่มีความพร้อมสูงสุด และเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าในภูมิภาค โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบเงินกู้โครงการไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อทำการก่อสร้างประกอบด้วย อาคารศูนย์ประชุม ซึ่งจะมีห้องประชุมใหญ่จุได้ 6,000 คน และห้องประชุมขนาดเล็กที่จุได้ตั้งแต่ 20-600 คนอีกจำนวนหนึ่ง ห้องจัดเลี้ยงจุได้ 1,000 คน อาคารนิทรรศการ อาคารหอพักสำหรับเจ้าหน้าที่ 100 ยูนิต และอาคารประกอบอื่นๆ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 40,000 ตารางเมตร ไม่รวมพื้นที่ภายนอกอาคาร ได้แก่ ลานจัดแสดงนิทรรสการ ถนนทางเท้า ที่จอดรถ พื้นที่สำรองไว้สำหรับการก่อสร้างเพิ่มเติมในอนาคต


นายประสิทธิ์ สืบชนะ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า การจัดรับฟังความเห็นจากคนภูเก็ตทุกภาคส่วน เพื่อนำความต้องการและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปใช้ในการออกแบบรายละเอียดโครงการและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการ หลังจากนั้นก็จะจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6-7 เดือน โดยจะสามารถลงมือก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2554

“จากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวภูเก็ตภาคส่วนต่างๆเห็นด้วยเกือบ100% แต่ยังเป็นห่วงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน น้ำอุปโภคบริโภค การคมนาคมขนส่ง ขยะ รวมไปถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบศูนย์ประชุม โดยเฉพาะป่าชายหาดที่บริเวณนั้นต้องการที่จะให้รักษาไว้เป็นแนวกันคลื่นหากเกิดสึนามิ และเพื่อความสมดุลของธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว”นายประสิทธิ์กล่าว

สรุปภาพรวมของความคิดเห็นที่มีการนำเสนอนั้น มีความเป็นห่วงในเรื่องของสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เส้นทางคมนาคมขนส่งในการเข้าออกสถานที่ประชุมซึ่งควรมีทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ระบบการรักษาความปลอดภัย การจัดให้มีลานจอดเครื่องบิน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะแนวกันคลื่นกรณีเกิดสึนามิ การมีส่วนร่วมของชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการขนส่งอุปกรณ์ในการจัดนิทรรศการ การควบคุมการก่อสร้างอาคารบริเวณรอบที่ตั้งศูนย์ประชุมฯ และอื่นๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น