จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เลือกตั้งสมานฉันท์นายกและสท.นครภูเก็ต



เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเป็นโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงาน กกต.ภูเก็ตจัดขึ้น 


โดยมีนายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต พนักงาน ข้าราชการ ตลอดจนผู้สมัครผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนเข้าร่วม โอกาสเดียวกันนี้ได้ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดกล่าวคำปฎิญาณตนเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ 


นายกิตติพงษ์ เที่ยงคุณากฤต ผู้อำนวยการ กกต.ภูเก็ต กล่าวว่า การจัดทำโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ฯ ดังกล่าว เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้สมัครฯ และเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสมานฉันท์ สุจริตและเกิดความเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง โดยที่สำคัญ คือ เป็นการลดจำนวนเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในจังหวัดภูเก็ตตามแนวทางโครงการสมานฉันท์ฯ ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตโปร่งใสและเที่ยงธรรม ส่งผลให้มีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มมากขึ้น 


ขณะที่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธาน กกต.ภูเก็ต กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกท่าน คือ ผู้เสียสละที่มีความตั้งใจอาสาเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชนมาบริหารท้องถิ่น ต้องอุทิศตนทั้งแรงกาย แรงใจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯ หรือไม่ทุกท่านก็สามารถร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือส่วนรวมได้ เพียงแต่คนละบทบาทหน้าที่ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง 


แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ขณะที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหรือภายหลังการเลือกตั้ง ทางผู้สมัครฯ ผู้สนับสนุน ญาติสนิทมิตรสหายมักเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีการเอารัดเอาเปรียบและฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบการเลือกตั้ง 


นอกจากนี้พบว่าบางท้องถิ่นถึงขนาดเอาชีวิตฝ่ายตรงข้ามก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือญาติพี่น้องเกิดความขัดแย้งกันหลังเลือกตั้ง ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นความบุคคลดังกล่าวไม่เข้าใจว่าตนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่ออะไร หากเข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการเสนอตัวอาสาเพื่อให้ประชาชนเลือกมาเป็นตัวแทนต้องเสียสละ ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน หากประชาชนไม่เห็นความสำคัญของเราแล้วทำไมต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมายและทำไมต้องโกรธแค้นกัน 


ดังนั้นจึงคาดว่าหลังจากการเข้าร่วมโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ฯ แล้ว ผู้สมัครฯ ผู้สนับสนุนทุกคนจะเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งได้ดีและเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งได้ และจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นายสมเกียรติกล่าว




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น