จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

สนธิกำลัง ตรวจยึดปลาสวยงามกว่า 200 ตัว



เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ (ตำรวจน้ำภูเก็ต) อ.เมือง จ.ภูเก็ต พ.ต.อ.มนตรี แป้นเจริญ ผกก.กก.8 กบ.ตำรวจน้ำ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) พ.ต.ท.ฉัตรชัย ศักดิ์ดี สารวัตรตำรวจน้ำภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 


ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายบุญเสือน รักนาวา อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต พร้อมของกลาง ปลาสวยงาม ได้แก่ ปลาบู่ทราย ปลาตั๊กแตนหินและปลาพยาบาล จำนวนประมาณ 232 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และปลาดาวอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงรถกระบะที่ใช้สำหรับขนปลาสวยงาม ป้ายทะเบียน บธ 7613 ภูเก็ต โดยดำเนินคดีฐานผิด พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ทั้งนี้จับกุมได้ในระหว่างผู้ต้องหานำของกลางไปฝากส่งกับรถโดยสารเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ที่บริเวณจุดพักรถด้านหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.รัษฎาแก๊ส ถนนเทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต 


อย่างไรก็ตามสำหรับการจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดปะการัง ได้จำนวน 117 ก้อน และปลาบู่ทราย จำนวน 107 ตัว ได้บนรถโดยสารเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ที่บริเวณด่านตรวจท่าฉัตรไชย อ.ถลาง หลังจากได้รับการแจ้งประสานจากสาย และสายคนดังกล่าวยังแจ้งด้วยว่าจะมีการลักลอบขนปลาสวยงามไปยังกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการสืบสวนหาข่าวและวางกำลังเข้าตรวจสอบ โดยสนธิกำลังร่วมตำรวจน้ำภูเก็ต และหน่วยงานเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น จนสามารถจับกุมผู้ต้องรายดังกล่าวได้ ซึ่งจากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การโดยอ้างว่า เป็นเพียงผู้รับจ้างนำปลามาส่งที่รถโดยสาร ได้ค่าจ้างประมาณ 1,000 บาท และไม่ทราบว่าของกลางดังกล่าวเป็นสัตว์คุ้มครองและต้องห้าม ขณะที่นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) กล่าวถึงการลักลอบจับปลาสวยงามและสัตว์คุ้มครองในทะเล ว่า ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มการลักลอบจับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนมีเงินที่ต้องการเลี้ยงไว้ดูเล่นส่วนตัว 


ขณะที่กลุ่มผู้จับก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ แม้ว่าจะมีบางรายอาจจะเลิกทำไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ในการขนส่งออกนอกพื้นก็จะทำกันในลักษณะของกองทัพมด โดยจะไม่มีการลักลอบขนกันเป็นคันรถเหมือนในอดีต จึงทำให้ในการจับกุมแต่ละครั้งจะคิดเป็นมูลค่าตัวเงินไม่มากนัก แต่หากคิดมูลค่าความเสียหายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติถือว่าค่อนข้างสูงมาก 


ดังนั้นจึงจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่าอย่านำสัตว์คุ้มครองดังกล่าวไปเลี้ยงหรือจับไปขาย เพราะจะทำลายระบบนิเวศทางทะเล เช่น ปลาตั๊กแตนหิน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณซอกหิน ดังนั้นวิธีการจับจะต้องใช้ยาเบื่อ ซึ่งอาจจะทำให้ปลาดังกล่าวหายไปจากระบบนิเวศน์ได้ เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น