จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทัพภาค 4 ตั้งศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวง

ทัพภาค 4 ตั้งศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวง

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 53 ที่บริเวณศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวงและการปลูกหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขุมเหมืองเจ้าฟ้า ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรองผู้อำนวยการความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เป็นประธานเปิดศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวงและการปลูกหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีนายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายกรีฑา แซ่ตัน นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต นายณรงค์ หงษ์หยก ประธานกรรมการบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต นักเรียน ประชาชนชาวภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมก่อสร้างฝายในหลวงและปลูกหญ้าแฝกจำนวน 40,000 ต้น

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวงและการปลูกหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทัพภาคที่ 4 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และบริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด ที่สนับสนุนพื้นที่จำนวน 25 ไร่ ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในพื้นที่และจากจังหวัดใกล้เคียงในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการสร้างฝายกั้นน้ำและการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันหน้าดิน รวมทั้งเรียนรู้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งและเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน การสร้างฝ่ายจะทำให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในช่วงหน้าแล้ง และในช่วงหน้าฝนฝายก็จะช่วยชะลอไม่ให้น้ำไหลลงที่ต่ำอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ภูเก็ตมักจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งเป็นประจำทุกปี ทางโรงพยาบาลฯ จึงร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการที่จะนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้ในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างฝายในหลวงและการปลูกหญ้าแฝก เพราะจะช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำ อีกทั้งฝายในหลวงยังสามารถกักเก็บน้ำดิบไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคแทนที่จะปล่อยให้ไหลลงทะเลแบบสูญเปล่า

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สร้างฝายในหลวงแห่งแรกที่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยฯ เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้มหาวิทยาลัยและชุมชนใกล้เคียงมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่วนการจัดตั้งศูนย์สาธิตการสร้างฝายในหลวงและการปลูกหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นั้นก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของหน่วยงานต่างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันใช้แนวทางนี้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาวต่อไป นพ.ก้องเกียรติกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น