จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกษตรภูเก็ตเร่งขยายตลาดสับปะรดภูเก็ต



เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีเชี่ยวชาญด้านสับปะรด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเข้าร่วม 


โอกาสนี้ยังได้มีการอภิปรายเรื่อง การพัฒนาพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต มีวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.เอนก ประทีป ณ ถลาง ผู้เชี่ยวชาญสับปะรดภูเก็ต, นายเสนาะ รอดระหงส์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมฯ บริษัทสยามอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร จำกัด (มหาชน), นายภูริต มาศวงศ์ศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, นายพีระพงศ์ ครองธรรม นักวิชาการเกษตร บริษัทตราดสีทอง จำกัด และนายสมพงษ์ สิทธิไชย ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต 


นายวินัย ขวัญแก้ว เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ต เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น คือ มีรสหวาน กรอบ กลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลืองตลอดทั้งผล เยื่อใยน้อย แกนผลกรอบรับประทานได้ จากคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ทำให้ได้รับการคุ้มครองและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการสับปะรดภูเก็ต แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบันมีพื้นที่ในการปลูกสับปะรดภูเก็ต ประมาณ 2,000 ไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสวนยางพาราที่ทำการปลูกใหม่ในพื้นที่ อ.ถลาง เนื่องจากความต้องการของตลาดมีสูง ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยได้มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ปลูกและตลาดสับปะรดภูเก็ตมีสมาชิกประมาณ 50 ราย 


“ในปีงบประมาณ 2555 ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด ดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดภูเก็ตให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในระบบการควบคุณคุณภาพและข้อตกลงของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และเพื่อประชาสัมพันธ์พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสับปะรดที่มีคุณภาพ การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต และการสัมมนาพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต” 


นายวินัย กล่าวด้วยว่า ในการพัฒนาสับปะรดภูเก็ตนั้นจะต้องมียุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้าน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งกระบวนการผลิตที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่ต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน มีข้อกำหนดและเงื่อนไขของกลุ่มเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเรื่องการตลาดไม่มีแหล่งหรือจุดจำหน่ายสับปะรดที่ปลูกในจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะ และในการวางแผนการตลาดก็จะต้องมองถึงรูปแบบการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต รูปแบบจำหน่าย รวมทั้งการส่งออกต่างประเทศด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น