จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ซ้อมแผนหนีภัยสึนามิกลางคืนครั้งแรก


เมื่อคืนของวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิบริเวณชายหาดกมลา ครั้งที่ 1/2553 โดยมีนายสันติ์ จันทรวงษ์ ปภ.จังหวัดภูเก็ต นายศิริพัฒ พัฒกุล นายอำเภอกะทู้ พ.ต.อ.พีระยุทธ์ การะเจดีย์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายจุฑา ดุมลักษณ์ นายกอบต.กมลา นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกอบต.เชิงทะเล หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตุการณ์การฝึกซ้อม โดยมีนักเรียน ประชาชน พนักงานสถานประกอบการในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวร่วมการฝึกซ้อม

โดยได้มีการสมมติสถานการณ์ว่า เวลา 20.00 น.วันที่ 14 ธ.ค. 2553 เกิดแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบา 9.0 ริกเตอร์ ลึกจากเปลือกโลก 10 กม.ห่างจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 600 กม.และอาจจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิ โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภูเก็ตได้รับวิทยุด่วนที่สุด จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ว่า เวลา 20.10 น.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ซึ่งคาดว่าคลื่นสึนามิจะเข้าสู่พื้นที่กมลา ประมาณ 21.00 ให้รีบทำการแจ้งท้องถิ่นเพื่อทำการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยด่วน หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ อบต.กมลา ได้รับทราบ ทางด้าน นายก อบต.กมลาได้สั่งการให้นำรถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและอพยพไปที่ปลอดภัย ณ อาคารอเนกประสงค์ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 (สมมุติว่าสูงที่สุดในบริเวณนี้)

ในระหว่างอพยพประชาชน/นักเรียน เกิดอุบัติเหตุรถชนกันที่หน้าโรงเรียนฯ มีผู้บาดเจ็บ ทางหัวหน้าป้องกันฯ แจ้งหน่วยกู้ภัยกมลา และแจ้งตำรวจกมลาอำนวยความสะดวกจราจร และประเมินสถานการณ์ พร้อมแจ้งนายก อบต.กมลา เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยทาง นายก อบต.กมลาพร้อมเจ้าหน้าที่ได้มาพร้อมยังจุดรวมพล และตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจขึ้น และแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือหลังเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์แผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตมีระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจากคลื่นสึนามิ โดยมีนโยบายให้ท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทำการฝึกซ้อมแผนอพยพฯ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ทางจังหวัดจึงเห็นควรให้มีการจัดการฝึกซ้อมอพยพหลบภัยสึนามิในพื้นที่ อบต.กมลา เพื่อเตรียมความพร้อมของกองอำนวยการจังหวัดภูเก็ต ในการลดผลกระทบของสึนามิ ตลอดทั้งการอพยพประชาชน โดยบูรณาการฝึกซ้อมฯ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน

นายวีระวัฒน์ กล่าวภายหลังการฝึกซ้อมฯ ว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้อาจจะไม่สมบูรณ์นัก เพราะว่าเป็นเหตุการณ์สมมุติ หลังจากนี้แต่ละหน่วย และแต่ละชุดที่มาร่วมฝึกซ้อมกันในวันนี้กลับไปประชุมว่ามีข้อบกพร่องว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้างที่จะต้องกลับไปปรับปรุงเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจริง เพื่อไปปรับแผนเพิ่มเติมข้อที่ไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจริงให้น้อยที่สุดโดยเน้นที่ชีวิตของคนเป็นอันดับหนึ่ง การสูญเสียทรัพย์สินถือเป็นเรื่องรอง

"การฝึกซ้อมแผนครั้งนี้ในสายตาของนักท่องเที่ยว และประชาชนเขาต้องการความมั่นใจ คนเหล่านี้เขาไม่กลัวเรื่องอันตราย แต่เขาอยากจะรู้ว่าเรามีการเตรียมการป้องกันอย่างไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าการฝึกซ้อมครั้งนี้จะสามารถสร้างความมั่นใจให้เขาได้ในระดับหนึ่ง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น