จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทุกภาคส่วนร่วมยืนยันความพร้อมรับมือหากเกิดสึนามิ


เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ที่บริเวณเวทีต้นซอยบางลาหาดป่าตองอ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นาวาเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายศิริพัฒ พัฒกุล นายกอำเภอกะทู้ นายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ดร.ภูเวียง ประคำมินทร์ โฆษกประจำกรมอุตุนิยมวิทยาและนายวีระพงษ์ ไวทยะวงษ์สกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ป่าตองบริเวณริมชายหาดและซอยบางลาซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชื่อเสียง และนักท่องเที่ยวนิยมเลือกเป็นสถานที่พักผ่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวกรณีที่มีข่าวลือเกี่ยวกับการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

โดยบรรยากาศของชายหาดป่าตองและซอยบางลาต่างคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ออกมารับประทานอาหารและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีความกังวลกับข่าวลือที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในพื้นที่ป่าตองคึกคักเป็นอย่างมาก แม้ว่าเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงบ้าง เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงไฮซีซันซึ่งนักท่องเที่ยวหลักจะเป็นกลุ่มยุโรป แต่ปรากฏว่าในหลายประเทศประสบกับปัญหาเศรษฐกิจและปัยหาสภาพอากาศทำให้การเดินทางไม่สะดวก

ด้านนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวยืนยันความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตว่าหากเกิดภัยสึนามิขึ้นจะสามารถอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทัน เพราะที่ผ่านมาได้มีการฝึกซ้อมแผนการอพยพหนีภัยมาอย่างต่อเนื่องปีละ 2 ครั้ง และที่สำคัญคือในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตได้มีการติดตั้งหอสัญญาณเตือนภัยครอบคลุมทั้งเกาะจำนวน 19 จุด และมีสัญญาณเสียงถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน อังกฤษ เยอรมันและญี่ปุ่น สำคัญคือ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่าได้เชื่อข่าวลือที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวยืนยันด้วยว่า หากเกิดแผ่นดินไหวและมีโอกาสที่จะเกิดสึนามิ ทางกรมอุตุฯ สามารถที่จะแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบก่อนเวลาที่คลื่นจะพัดเข้าฝั่งได้ 100% และขอยืนยันซ้ำอีกครั้งว่าปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดแม้แต่กระทั่งประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่จะสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดสึนามิขึ้นในเวลาใด เนื่องจากการที่จะบอกได้ว่าสึนามิเกิดขึ้นหรือไม่นั้นอยู่ที่การตรวจจับความสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหวเท่านั้น และปัจจุบันประเทศไทยมีอุปกรณ์ในการตรวจจับแผ่นดินไหวที่ทันสมัยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ภายใน 5 นาที และสามารถแจ้งเตือนให้ทราบได้ภายในเวลา 15 นาที เพื่อหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมและอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นถึงศักยภาพของระบบเตือนภัยที่ประเทศไทยมีอยู่

“ที่ผ่านมาเราได้มีการ ติดตั้งทุ่นตรวจวัดแผ่นดินไหวในทะเลทุ่นแรกในช่วงหลังจากเกิดสึนามิ และล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการติดตั้งเพิ่มอีก 2 ทุ่น นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งหอสัญญาณเตือนภัในพื้นที่ต่างๆ นอกจากการแจ้งเตืนในส่วนของสึนามิแล้ว ยังสามารถแจ้งเตือนในส่วนของแผ่นดินไหว ดินถล่ม พายุ และภัยอื่นๆ ได้ด้วย รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยเพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้เองในกรณีที่เกิดภัยไม่ใหญ่มากนัก เช่น น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น” นายต่อศักดิ์ กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ 2555 จะมีการติดตั้งหอเตือนภัยเพิ่มเติมอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสียงภัยเร่งด่วน และในพื้นที่ฝั่งอันดามันก็จะมีการติดตั้งเพิ่มเช่นกัน ส่วนจะได้มากน้อยเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลพบว่าในอันดามันมีพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งสึนามิ พายุ และดินถล่ม ประมาณ 100-200 จุด

ส่วนของนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวยืนยันเช่นเดียวกันว่า หากเกิดแผ่นดินไหวและมีโอกาสที่จะเกิดคลื่นสึนามิ หอเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ทั้งหมดในฝั่งอันดามันสามารถที่จะส่งสัญญาณเตือนภัยได้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้ได้มีการทดสอบทุกวันที่ 1 และ วันที่ 15 ของทุกเดือน ส่วนที่ผ่านมาซึ่งมีข่าวว่าหอเตือนภัยดังขึ้นโดยไม่มีการกดสัญญาณแจ้งเตือนนั้นยืนยันว่าเป็นเพียงข่าวลือ และในเรื่องการทำนายว่าจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 30 ธันวาคมนั้น จากการที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเป็นระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา และก่อนหน้านั้น ไม่พบการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระดับ 8 ริกเตอร์ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิมีน้อยมากจนเกือบเป็นศูนย์ก็ว่าได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น