จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“สืบสาน เล่าขาน ภูมิปัญญาชาวราไวย์ ครั้งที่ 4”


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 บริเวณลานอเนกประสงค์ วัดสว่างอารมณ์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “สืบสาน เล่าขาน ภูมิปัญญาชาวราไวย์ ครั้งที่ 4” ซึ่งทางเทศบาลตำบลราไวย์ ร่วมกับศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ตในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น โดยมีนายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์, นายยงยุทธ โสตถิอุดม ผู้จัดการศูนย์ 3 วัยฯ คณะผู้บริหารเทศบาลฯ สมาชิกสภาฯ คณะกรรมการศูนย์ 3 วัยฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงเข้าร่วมชมงานและกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
นายยงยุทธ โสตถิอุดม ผู้จัดการศูนย์ 3 วัยฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมรวบรวมภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุและผู้มีภูมิรู้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในท้องถิ่นของราไวย์ พร้อมได้มีการถ่ายทอด และสาธิตให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก โดยได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เนื่องจากประชาชน สถานศึกษา องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ด้วยเล็งเห็นความสำคัญถึงของดีที่มีอยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดการสรรหา ผู้ที่มีภูมิรู้ในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
“การจัดงานดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม และทำประโยชน์ต่อสังคม โดยรวบรวมและคัดเลือกภูมิปัญญา ความรู้ของผู้สูงอายุที่มีความสามารถทางด้านต่างๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง ซึ่งตำบลราไวย์ เป็นพื้นที่ที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นของดีที่มีอยู่ในชุมชนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นและสังคมของตนเอง รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์ 3วัยฯ ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกว้างขวางมากขึ้น” นายยงยุทธ กล่าว
ขณะที่นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า ตำบลราไวย์มี 7 หมู่บ้าน มีประชากรจำนวน 15,137 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประมง โรงแรม รับจ้าง งานบริการท่องเที่ยว และค้าขาย ด้วยความหลากลหายของอาชีพ จึงเกิดภูมิปัญญาด้านต่างๆ มากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาชาวราไวย์ ไม่ให้สูญหายไป ให้เด็กและเยาวชนรักและหวงแหนภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ตระหนักถึงคุณค่าของคนเฒ่าคนแก่ เชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการศึกษาที่สูงขึ้น และดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพต่อไป โดยมีศูนย์ 3 วัยฯ เป็นหน่วยประสานที่สำคัญในการยึดโยงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนรุ่นต่อรุ่นได้เป็นอย่างดี
สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ การถ่ายทอด การสาธิตภูมิปัญญาด้านต่างๆ การจำลองการใช้ชีวิตของคนภูเก็ตในอดีต จนถึงปัจจุบัน ทั้งภูมิปัญญาวิถีชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวไทยใหม่ อาทิ การสาธิตกวนกาละแมต้นรับของชาวราไวย์ การสาธิตการทำศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย สมุนไพรเพื่อการรักษา การสาธิตทำอาหาร เช่น น้ำพริกหยำ เกลือเคย ข้าวยำภูเก็ตสูตรโบราณ กาแฟโบราณ ขนมจาก การรำวงย้อนยุค การรำรองเง็ง มวยกาหลง วิถีชีวิตชาวประมง การทำข้าวหมก การเล่นสะบ้า เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น