จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สร้างเครือข่ายช่วยบริหารจัดการขยะในชุมชน


เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านกะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.น้อย) รุ่นที่ 4 โดยมีนายพรเทพ ชามขาว สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนครู นักเรียนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
สำหรับการจัดฝึกอบรมดังกล่าว เพื่อให้แกนนำในชุมชน และเยาวชน แกนนำที่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.น้อย) มีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารทรัพยากรธรรมชาติฯ เพิ่มขึ้น นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและในโรงเรียนได้ รวมถึงให้แกนนำ ชุมชน และเยาวชนแกนนำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ ทสม.ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่เครือข่าย ทสม. ได้ขยายเครือข่ายและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดจากชุมชน โดยเฉพาะขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายตำบลในพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต แต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะภูเก็ต โดยในปีงบประมาณ 2554 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.ภูเก็ต ให้ขยายเครือข่าย ทสม.เพิ่มไปอีก 6 ตำบล
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดภูเก็ตปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งอนาคตอันใกล้จะมีการขยายสนามบิน มีการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ และโครงการพัฒนาอื่นๆ อันจะส่งผลให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรในประเทศเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีปัญหาตามมาพอสมควร และขยะก็เป็นปัญหาหนึ่งจากการขยายตัวและเติบโตด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าเราจะมีโรงเตาเผาขยะ แต่ก็รับได้เพียงวันละ 250 ตัน ในขณะที่มีขยะเกิดขึ้นวันละประมาณ 570 ตัน
ดังนั้นหากทุกคนทิ้งขยะหรือสิ่งของที่คิดว่าไม่มีประโยชน์ โดยไม่มีการคัดแยกหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อีกไม่นานขยะก็คงจะล้นเกาะภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันพบว่าบริเวณสองข้างทางถนนมีขยะตกค้างจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่อุดจาดไม่สมกับที่เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วน จะต้องร่วมมือกันคัดแยกขยะก่อนที่จะทิ้งลงถัง เพราะจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะในจังหวัดภูเก็ต พบว่า 60% เป็นขยะอินทรีย์ 34% เป็นขยะรีไซเคิล ส่วนที่เหลือเป็นขยะทั่วไปและขยะอันตราย หากมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังจากแหล่งกำเนิด ก็จะเหลือขยะที่ต้องทิ้งลงถังไม่ถึง 10% ของปริมาณขยะทั้งหมด สำหรับขยะที่ได้คัดแยกไว้ เช่น ขยะรีไซเคิล สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือนได้ และขยะอินทรีย์สามารถนำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้จังหวัดภูเก็ตมีความสะอาดและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและเยาวชนเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนและสถานศึกษาให้ครอบคลุมมากที่สุด นายไพบูลย์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น