จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

อสม.ภูเก็ตจัดมหกรรมตลาดนัดสุขภาพ ครั้งที่ 4



เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 ที่เวทีกลางสะพานหิน อ.เมือง ภูเก็ต นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานมหกรรมตลาดนัดสุขภาพ ครั้งที่ 4 “อสม.เพื่อสุขภาพ ประสานใจใช้ภูมิปัญญาไทย ต้านภัยไข้เลือดออก” ซึ่งจัดในระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 3 พฤษภาคม 56 โดยมีนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ และนายชูศักดิ์ เสมาตระกูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข อสม.จากพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วม


สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการดำเนินงานสาธารณสุขในชุมชน เริ่มตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลา 35 ปี ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มี อสม.ทั้งหมด จำนวน 2,020 คน แบ่งเป็น อสม.อำเภอเมือง จำนวน 935 คน, อำเภอถลาง จำนวน 709 คน และอำเภอกะทู้ จำนวน 336 คน ปัจจุบัน อสม.ปฏิบัติภารกิจด้านสุขภาพของประชาชนใน 5 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การฟื้นฟูสุขภาพให้ประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภค 


จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระดับประเทศปีนี้มีความรุนแรง สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีรายงานยืนยันผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าช่วงเดียวกัน ในปี 2555 ถึง 6.4 เท่าตัว มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กพม่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกกระจายทุกอำเภอ ทุกตำบล ผลการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบว่ามีลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่น้ำขังในบ้านและบริเวณบ้านสูงเกินเกณฑ์ทุกพื้นที่ บ่งบอกว่าบ้านของคนภูเก็ตจำนวนมากเป็นที่พักอาศัยของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมาสู่คน 


ดังนั้นภารกิจสำคัญของ อสม.กับการเร่งรัดป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยสูงขึ้นมากในช่วง 3 เดือน โดยนำกลยุทธ์ “3 วัน รุกรบ 3 สัปดาห์ เร่งรัด 3 เดือนรณรงค์” มาดำเนินงานอย่างเข้มข้น กำหนดดีเดย์ 3 วันแรก ในวันที่ 24-26 เมษายน 2556 ไปปฏิบัติทุกพื้นที่ โดย อสม.จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ดำเนินงานรณรงค์ตามกลยุทธ์ 333 ในชุมชน ประกอบด้วย การสำรวจ ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย การพ่นเคมีกำจัดยุง ควบคู่กับแนะนำให้ประชาชน สร้างความตระหนักเห็นถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออก และร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน ในชุมชน 


เพื่อตัดวงจรการแพร่โรค ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ด้วยการปฏิบัติ สร้างนิสัย “คุณธรรม” ตามมาตรการ “5 ป 1 ข” ร่วมกับการป้องกันยุงและการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ตะไคร้หอมกันยุง หรือการฉีดสเปรย์พ่นกำจัดยุงลายในบ้าน การดูแลไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งค้นหาผู้ที่มีไข้สงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก ด้วยการใช้แถบวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้เกิน 38 องศา ได้แจกยาทากันยุงให้คนละ 6 ซอง และให้ทายาต่อหน้าและทาติดต่อกัน 3 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลอื่น และเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมแจกบัตรแนะนำผู้ที่มีไข้สงสัยเป็นไข้เลือดออกเพื่อปฏิบัติตัว และเฝ้าระวังอาการป่วยเบื้องต้น พร้อมแนะนำการใช้ภูมิปัญญาไทย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น