จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สำนักระบาดวิทยา เข้าเก็บชิ้นเนื้อศพชายชาวอังกฤษ




เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลป่าตอง ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) พร้อมด้วย นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารรณสุขจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 


ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากสำนักระบาดวิทยาจำนวนประมาณ 10 คน เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการสอบสวนโรค หาสาเหตุการเสียชีวิตของชายชาวอังกฤษ ทราบชื่อคือ นายคลาร์ก มาร์ติน จอห์น โรเบิร์ต อายุ 68 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นผู้มีประวัติเดินทางมาจากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย และถึงที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา 


นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส นายแพทย์สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ว่า หลังจากที่มีการประชุมร่วมกับทางสำนักระบาดวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นจะมีการเก็บชิ้นเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายของผู้เสียชีวิต ซึ่งมี 4 เป้าหมาย ได้แก่ บริเวณกระพุ้งแก้ม ก้อนเลือดหัวใจ ตับ และอุจจาระ ซึ่งจะดำเนินการจัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรุงเทพมหานคร คาดว่าน่าจะทราบผลได้ในวันพรุ่งนี้ (26 ต.ค.57) 


“ชาวต่างชาติรายดังกล่าวเป็นหนึ่งในผู้ที่มีการเฝ้าระวังของทางเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เพราะได้แจ้งว่ามาจากประเทศไนจีเรีย ในการสอบประวัติเบื้องต้นไม่มีไข้แต่อย่างใด และภายหลังจากที่เขาเข้ามาพักอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตแล้วเคยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการหน้ามืดและเป็นลม โดยไม่พบอาการอย่างอื่น แต่เขาจะมีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ จึงทำให้ไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ เนื่องจากเจอศพหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้วประมาณ 3 วัน 


ตรวจสอบประวัติเบื้องต้นไม่พบว่ามีไข้ ประกอบกับช่วงที่เขาเดินทางไปประเทศไนจีเรียนั้นเป็นช่วงที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ปลอดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เกินกว่า 42 วันแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บตัวอย่างของชิ้นเนื้อไปตรวจพิสูจน์เพื่อยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน นอกจากนี้จะเฝ้าระวังและติดตามผู้สัมผัสกับผู้ตาย เบื้องต้นจำนวน 25 คน โดยเป็นเวลา 21 วัน ทั้งผู้พบศพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พยาบาล และผู้สื่อข่าว” 


นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวถึงกรณีของห้องพักของผู้ตายในระยะนี้จะทำการปิดไว้ก่อน เพื่อรอดูผลการตรวจหาเชื้อว่าออกมาเช่นไร หากผลออกมาไม่มีเชื้อก็จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดตามปกติ แต่หากพบเชื้อก็จะส่งทีมเจ้าหน้าที่จากกรมอนามัยเข้าทำความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงฯ ส่วนกรณีของที่เก็บศพภายในโรงพยาบาลนั้น ได้เคลื่อนย้ายศพอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปเก็บไว้ที่ห้องเก็บศพของโรงพยาบาลอื่น เหลือเพียงศพของชายชาวอังกฤษเพียงศพเดียว และห้ามมิให้มีการดำเนินการใด ไปจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนศกนี้ ซึ่งเป็นช่วงเฝ้าระวัง 21 วัน ตามหลักเกณฑ์ 


อย่างไรก็ตาม นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนที่ติดตามข่าวอย่าได้แตกตื่นหรือตระหนกตกใจจนเกินไป เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ประกอบกับการจะเกิดโรคดังกล่าวได้นั้นจะต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างเกี่ยวข้อง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น