จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศูนย์ประชุมฯ ภูเก็ต ยังมีเรื่องเสนอแนะหลายเรื่อง


เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ที่ห้องพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต กรมธนารักษ์ โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการ การศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในด้านมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต เพื่อให้โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีมาตรการที่ป้องกันและแก้ไขผลกระทบได้อย่างครบถ้วน โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับแนวคิดในการออกแบบอาคารศูนย์ประชุมนั้น เพื่อยกระดับภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกมากขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคด้านการจัดการประชุมและนิทรรศการนานาชาติได้ โดยผสมผสานความเป็นนานาชาติ ความเป็นภูเก็ตและสภาพอุทยานป่าที่มีอยู่บริเวณใกล้ที่ตั้ง และจากปรากฏการณ์ที่มีเต่าทะเลเคยขึ้นมาวางไข่บนชายหาดใกล้กับที่ตั้งโครงการ จึงเสนอแนวคิดเพื่อให้เป็นศูนย์ประชุมฯในอุทยานธรรมชาติ (Convention in the Natural Park) ได้แก่ ความเป็นนานาชาติที่ทันสมัย โดยนำเสนอรูปทรงอาคารที่มีเส้นสายเป็นธรรมชาติเท่าที่ทำได้ การออกแบบที่ผสมผสานความเป็นภูเก็ตทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมท้องถิ่นชิโนโปรตุกิส มาประยุกต์ใช้ รวมถึงจุดเด่นอื่นๆ เช่น หอนาฬิกามาเป็นแลนด์มาร์ก เป็นต้น มีการเชื่อมต่อสภาพที่เป็นธรรมชาติของป่าสงวนและทะเล โดยนำเสนอผนังและหลังคากระจก เพื่อให้สามารถสัมผัสได้ถึงธรรมชาติภายนอกอาคาร นำเสนอหลังคาสีเขียวที่ได้รับการปลูกหญ้าและเชื่อมต่อระหว่างพื้นชั้นล่างบนระดับดินและเดินขึ้นสู่ระดับชั้นสองที่เป็นบริเวณระเบียงจัดเลี้ยง และเชื่อมเป็นสะพานข้ามบ่อน้ำเดิมไปสู่บริเวณป่าชายหาดเพื่อเดินลงไปสู่หาดทราย นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่เพื่อรองรับและส่งเสริมกิจกรรมในเชิงอนุรักษ์ เช่น จุดเรียนรู้ธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมของการแสดงความคิดเห็นนั้นยังคงมีความกังวลในเรื่องของรูปแบบอาคารที่ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ไม่เฉพาะความเป็นภูเก็ตเท่านั้นแต่รวมถึงเอกลักษณ์ของความเป็นภาคใต้ด้วย ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการประชุมขนาดใหญ่ สถานที่จอดรถอาจจะไม่เพียงพอรองรับ ปัญหาการจราจร ระบบการรักษาความปลอดภัยกรณีของผู้นำระดับสูง ระบบการอำนวยความสะดวก ระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคภายในโครงการ การจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยสำหรับชุมชนหรือประชาชนทั่วไป สายเคเบิ้ล การบริหารจัดการหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ทั้งหลังจากรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้วจะมีการสรุปเป็นรายงาน เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหากผ่านความเห็นชอบแล้วก็จะได้มีการจัดหาผู้มาทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างโครงการต่อไป

นายพิทักษ์ ดิเรกสุนทร ผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ตามที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.153 บริเวณหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง บนเนื้อที่ 150 ไร่ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง 2,600 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการ รวมทั้งความเดือดร้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและกำหนดเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลกระทบ ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโครงการ โดยจะมีการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผนวกไว้ในรายงาน EIA ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น