จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

เตรียมงบ 100 ล. ขยายท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 54 ที่ห้องประชุมสวนหลวง โรงแรมคาทีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายอาซิ่น อร่ามเมธาพงษ์ศา ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการขยายท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งทางกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มอบหมายให้บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าเรือดังกล่าวว่าจ้าง บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเผยแพร่ร่างขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายวัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการท่าเรือ บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตและสงขลา กล่าวว่า สำหรับท่าเทียบเรือดังกล่าวเป็นของกรมธนารักษ์ โดยบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด เป็นผู้บริหารท่าเรือ มีความยาวหน้าท่า 360 เมตร ลึก 10 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด เป็นท่าเรือสินค้าเอนกประสงค์ ปัจจุบันมีสินค้าผ่านท่าเฉลี่ยปีละประมาณ 130,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นยางพาราและแผ่นไม้ MDF โดยมีเรือสินค้าเข้าเทียบเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ลำ แต่เนื่องจากชายฝั่งทะเลอันดามันปัจจุบันยังไม่มีท่าเรือที่มีน้ำลึกพอให้เรือโดยสารระหว่างประเทศเข้าเทียบท่าได้ ดังนั้นเรือโดยสารเหล่านี้จึงใช้ท่าเรือภูเก็ตเป็นท่าหลัก โดยมีเรือโดยสารระหว่างประเทศประมาณ 1-2 สัปดาห์ มีผู้โดยสารผ่านท่าเรือปีละ 150,000 คน แต่เนื่องจากท่าเทียบแห่งนี้ไม่ได้ออกแบบเพื่อเรือโดยสารจึงก่อให้เกิดปัญหาด้านบริหารจัดการ จึงมีแนวคิดในการขยายท่าเทียบเรือเพิ่มเติม

ทั้งนี้ในส่วนของการปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือเพิ่มเติม ประกอบด้วย เพิ่มหลักผูกเรือจำนวน 2 ตัวพร้อมสะพานเชื่อม โดยเป็นการเสริมความยาวหน้าท่ออกไปประมาณ 60 เมตร เพื่อให้สามารถจอดเทียบเรือโดยสารและเรือสินค้าพร้อมกันได้ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกขนาด 400 ตารางเมตร พร้อมลานจอดรถยนต์ 4 ล้อ ได้ 56 คัน และรถโดยสารขนาดใหญ่ได้ 29 คัน ก่อสร้างถนนทางเข้าสู่อาคารที่พักผู้โดยสารแยกระหว่างการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ขยายอาคารเก็บสินค้าอีก 1,750 ตารางเมตร และขุดลอกบริเวณหลักผูกเรือใหม่ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 80-100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามนายวัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รายได้ของท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตว่า รายได้หลักของท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 40 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะเกิน 40 ล้านบาท เนื่องจากมีทั้งเรือขนส่งสินค้าและเรือท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยรายได้ที่เกิดจากเรือท่องเที่ยวอยู่ที่ 20-25% ที่เหลือเป็นรายได้จากเรือขนส่งสินค้า โดยมีสินค้าหลัก คือ ยางพาราและไม้ยางพารา แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากมีการขยายท่าเรือเพื่อรองรับเรือท่องเที่ยวแล้วเสร็จ รายได้จากเรือท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเท่าตัวอย่างแน่นอน เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตเรือท่องเที่ยวจะเข้ามาให้บริการมากขึ้น โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่มารับเรือท่องเที่ยวระดับโลกปีละ 150,000 คน โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300,000 – 350,000 คน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น