จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศปป.3 กอ.รมน.ติดตามสถานการณ์ก่อการร้าย



เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.ต.วีระศักดิ์ ล้อมวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.3 กอ.รมน.) พร้อมคณะ รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวเข้าร่วม อาทิ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ป้องกันจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต ว่า ประกอบด้วย การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความแตกแยกในสังคม/และการปกป้องสถาบัน รวมถึงภัยคุกคามอื่นๆ ตามสถานการณ์
ในส่วนของการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ได้มีการรายงานว่า จากการประเมินสถานการณ์การข่าวและสถานการณ์แวดล้อมของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก และการขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายขึ้นได้จากกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลุ่มมิตรประเทศของสหรัฐอเมริกาที่อาจตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย อีกทั้งยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและเครือข่าย ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท และจากการขยายตัวทางธุรกิจการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะเป็นเหตุให้มีอาชญากรรมแฝงตัวเข้ามาหลากหลายรูปแบบ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ นักค้ายาเสพติด การก่อการร้าย เป็นต้น ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ที่ผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาประชุม และท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเช่นกัน จึงอาจเป็นเป้าหมายของกลุ่มหัวรุนแรงจะกระทำได้ พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น สนามบิน โรงแรมขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมเลือกไปพักผ่อน คลังน้ำมัน ท่าเทียบเรือ เป็นต้น ซึ่งก็ได้มีการกำหนดมาตรการและแผนรับมือไว้แล้ว
พล.ต.วีระศักดิ์ กล่าวภายหลังรับฟังบรรยายสรุป ว่า ด้วย ศปป.3 กอ.รมน.เป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติและติดตามการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ มีภารกิจในการตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ วางแผนอำนวยการประสานความร่วมมือในลักษณะการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากปัจจัยเกี่ยวกับการเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งมีการวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสารและคมนาคม ประกอบประเทศไทยติด 1 ใน 36 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงของการเกิดการก่อการร้าย เนื่องจากมีบุคคล สถานที่ และแหล่งผลประโยชน์ต่างๆ ที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งที่จะก่อความรุนแรงหรือวินาศกรรม รวมถึงการเป็นประเทศเสรีด้านการค้าและการส่งเสริมท่องเที่ยวทำให้มีผู้คนเดินทางเข้ามาจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งยังมีรายงานว่าเป็นแหล่งที่มีการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อจะได้ไม่เกิดความตื่นตระหนก รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารกรณีพบความผิดปกติ
“ในส่วนของภูเก็ตขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรน่าเป็นห่วง แต่ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งมีความเสี่ยงในการเข้ามาแฝงตัวของกลุ่มคนร้าย จึงจำเป็นที่จะต้องมาสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุการณ์ความผิดปกติขึ้น ถือเป็นการป้องกันไว้ดีว่าที่จะมาแก้ไขในภายหลัง ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลทางจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการมาเตรียมความพร้อมไว้แล้วในระดับหนึ่ง ส่วนของ กอ.รมน.ก็จะมาเติมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” พล.ต.วีระศักดิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น