จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เตรียมความพร้อมสู่อาเซียน




เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 ที่ห้องจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นประธานเปิดโครงการ “ระดมสมองเพื่อการสัมมนาเตรียมพร้อมสู่ AEC ภายใต้โครงการสัมมนา “การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับศาลอุทธรณ์ภาค 8 และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) จัดขึ้น
โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม อาทิ ผู้พิพากษา หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ได้เชิญนายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง AEC คือ อะไร


นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวว่า จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศได้มีการกำหนดให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งกฎบัตรดังกล่าวนี้ได้กำหนดเอกสารคู่มือการเข้าร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนที่เรียกว่า “แผนปฏิบัติการสู่ประชาคมอาเซียน (Roadmap for an ASEAN Community)” ซึ่งมีการกำหนดว่าประชาคมอาเซียน จะประกอบด้วย 3 ประชาคมหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 


โดยการรวมตัวเป็นประชาคมนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องกำจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานที่มีฝีมือ และการเคลื่อนย้ายที่เสรีมากขึ้นของสินค้า บริการและการลงทุน เพราะฉะนั้นประเทศสมาชิกต่างก็จะต้องเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลเองก็จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ และเพื่อให้ประชาคมสามารถก่อตั้งได้อย่างสำเร็จผล 


ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ซึ่งเป็นองค์กรหลักในกระบวนการยุติธรรมที่มีบทบาทภาระหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในสังคม ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคภายหลังการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) จัดสัมมนาขึ้น เพื่อศึกษาถึงวิธีปฏิบัติและกลไกในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน ข้อดี ข้อเสีย ปัญหาและวิธีการแก้ไขในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภาคธุรกิจในภูมิภาค รวมถึงขอบเขตการเปลี่ยนแปลงภายหลังที่ได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วของภาคธุรกิจในประเทศไทย


เพื่อศึกษากฎหมาย ข้อตกลง และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความร่วมมือของหน่วยงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจของกลุ่มสมาชิกอาเซียน แลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ ในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในภาคธุรกิจของภูมิภาค เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นนำไปใช้พิจารณาและเตรียมความพร้อมในการรองรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมการปรับตัวเพื่อส่งเสริมให้การประกอบการภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐก็ได้เข้าใจบทบาทภาระหน้าที่ของตน อันจะช่วยให้ลดปัญหาความขัดแย้ง และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งอาจนำมาซึ่งคดีความและข้อพิพาทต่าง ๆ นายไสลเกษกล่าว 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น