จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

“วิวาห์หวานบาบ๋า สุดขอบฟ้าอันดามัน”



เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2555 สมาคมเพอรานากัน ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต และภาคีเครือข่ายด้านอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมภูเก็ต จัดพิธีวิวาห์หวานบาบ๋า สุดขอบฟ้าอันดามัน ประจำปี 2555 เพื่อสืบสานความงดงามของพิธีแต่งงานเก่าแก่ของชาวบาบ๋าภูเก็ต ซึ่งเป็นประเพณีที่มีสีสันงดงาม ถ่ายทอดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนบาบ๋าอย่างแท้จริง 


พิธีวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ตฯ ครั้งนี้มีคู่วิวาห์เข้าร่วม 7 โดยเป็นคู่วิวาห์กิตติมศักดิ์ 4 คู่ ได้แก่ 1.นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต กับ ดร.สถาพร สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองนายกเหล่ากาชาดฯ 2.นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รอง ผวจ.ภูเก็ต กับนางวาสนา ทิพญพงศ์ธาดา รองนายกเหล่ากาชาดฯ 3.พ.อ.นฤดล ท้าวฤทธิ์ ผู้รองบังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรีกับนางเฉลิมขวัญ ท้าวฤทธิ์ กรรมการสมาคมแม่บ้านทหารบก และ 4. คู่ของบุตรชายผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คือ นายนันทฤทธิ์ อัครเดชา กับนางปรารถนา อัครเดชา ส่วนคู่วิวาห์ที่สมัครเข้าร่วมพิธีฯ จำนวน 3 คู่ เป็นคู่คนไทย 2 คู่ และคนชาวจีน 1 คู่ 


สำหรับพิธีการเริ่มด้วยขบวนเจ้าบ่าวที่เดินทางออกจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งใช้เป็นบ้านเจ้าบ่าว เคลื่อนไปยังบ้านหงษ์หยก ซึ่งเป็นบ้านเจ้าสาว เพื่อประกอบพิธีไหว้ฟ้าดิน และพิธีผ่างเต๋หรือพิธียกน้ำชาไหว้พ่อแม่และญาติพี่น้องตามประเพณีโบราณ ในระหว่างนั้นก็มีการบรรเลงเพลงของวงตี้ต่อตี้แฉ้ซึ่งหายไปกว่า 50 ปี ภายใต้การอำนวยการของ ดร.ณรงค์ หงส์หยก ขณะเดียวกันก็มีการประกวดหาบดอกไม้ 8 มงคลของจีนด้วย 


จนกระทั่งได้ฤกษ์งามยามดีที่กำหนดไว้ ก็ได้มีการแห่ขันหมากและดอกไม้ 8 มงคลโบราณ นำคู่บ่าวสาวทั้งหมดผ่านย่านเมืองเก่าภูเก็ตบริเวณถนนถลางและถนนกระบี่ไปยังพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสเก่าแก่ เพื่อถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก ซึ่งภายในขบวนแห่มีนางนลินี อัครเดชา นายกเหล่ากาชาดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากันฯ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่านได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวร่วมบันทึกภาพเป็นจำนวนมาก จากนั้นในช่วงค่ำจะมีการจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสให้กับคู่บ่าวสาวที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นอันเสร็จพิธี 


นพ.โกศล กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ที่ จ.ภูเก็ตมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองว่า บาบ๋า (Baba) หรือเพอรานากันหรือที่เรียกว่าลูกผสมที่เกิดจากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นคนท้อง ถิ่น ชาวบาบ๋าที่ภูเก็ตมีการรวมกลุ่มกันเป็นอย่างดี และมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไว้มากมาย หนึ่งในนั้น คือ ประเพณีการแต่งงานของชาวบาบ๋า ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีการออกเรือนที่สืบทอดให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สิ่งที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของครอบครัว การเคารพผู้อาวุโส รวมถึงผู้รู้จักหรือผู้เคารพนับถือ การแต่งงานบาบ๋าจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเฉพาะคู่บ่าวสาว แต่เป็นการประกาศและดำรงข้อผูกพันในสังคมบาบ๋าเพอรานากันด้วย


 














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น