จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

10 ชาติสมาชิกอาเซียนจัดตั้งกองทุนพัฒนา SMEs


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาแนวทางในการก่อตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา SMEs ในภูมิภาคอาเซียน โดยนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนการค้าไทย ผู้อำนวยการกลุ่มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ-สำนักเลขาธิการอาเซียน หัวหน้าส่วนพัฒนาธุรกิจภูมิภาค ประจำภูมิภาคยุโรปเหนือ-คณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ร่วมปาฐกถาพิเศษให้กับผู้ร่วมประชุม ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานส่งเสริม SMEs จากประเทศอาเซียน+3 หน่วยงานทางการเงินจากกลุ่มประเทศอเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กระทรวงการคลัง และสำนักงานเจโทร กรุงเทพมหานคร

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมฯ ว่า ประเทศไทยโดย สสว.ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานด้าน SME อาเซียนในการศึกษากรอบและรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา SME อาเซียน โดยในครั้งนี้ สสว.ได้นำเสนอร่างการศึกษาแก่ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเพื่อพิจารณา ให้ข้อคิดและข้อแนะนำ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการก่อตั้งและจัดการกองทุน ซึ่งในการดำเนินการศึกษาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือจากหน่วยงานส่งเสริม SMEs ในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว พม่า และเวียดนาม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิ คณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เป็นต้น ในการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา SME อาเซียน

“แม้ว่ากองทุนนี้จะริเริ่มในคณะทำงานด้าน SME อาเซียน แต่ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เนื่องจากจะสามารถช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาคให้มีศักยภาพและสามารถออกสู่ตลาดโลกได้ โดยสภาที่ปรึกษาอาเซียนยังได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ด้านสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขณะที่ผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้ร่วมถกเถียงแผนงานเพื่อกองทุนค้ำประกันเงินกู้สำหรับกลุ่มแม่น้ำโขง”

นายชาวันย์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันเพื่อก้าวสู่เป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คณะทำงานอาเซียนได้จัดทำพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนงานเชิงบูรณาการการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ในการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความชัดเจนขึ้น โดยในส่วนของ SMEs มีการดำเนินงาน 5 โครงการ คือ 1.จัดตั้งหลักสูตรร่วมกันสำหรับผู้ประกอบการในอาเซียน 2.จัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจรสำหรับ SMEs ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและภูมิภาคย่อยของประเทศสมาชิก 3.จัดตั้งการให้บริการทางการเงินสำหรับธุรกิจ SMEs ในแต่ละประเทศสมาชิก 4.จัดตั้งโปรแกรมส่งเสริมการฝึกปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาค และ 5.จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา SMEs ในระดับภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดกำหนดแล้วเสร็จในปี 2558


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น