จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ยื่นหนังสือ “สดศรี” ค้านแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ภูเก็ต


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสรนันท์ เสน่ห์ กรรมการธรรมาภิบาล ประจำจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง ต่อนางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งในโอกาสที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ซึ่งสำนักพัฒนาบุคลากร สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งจัดขึ้น

ทั้งนี้นายสรนันท์ เสน่ห์ กรรมการธรรมาภิบาลประจำ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งซึ่งมีการเสนอไป 3 รูปแบบ ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 พื้นที่ อ.เมือง ยกเว้น ต.ฉลอง เทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลกะรน มี ราษฏร 170,123 คน เขตเลือกตั้งที่ 2 พื้นที่ อ.ถลาง อ.กะทู้ ต.ฉลอง เทศบาลตำบลราราไวย์ เทศบาลตำบลกะรน มีราษฏร 174,944 คน รูปแบบที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 พื้นที่ อ.เมือง ยกเว้นเทศบาลตำบลรัษฎา ต.เกาะแก้ว มีราษฏร 161,276 คน เขตเลือกตั้งที่ 2 พื้นที่ อ.กะทู้ อ.ถลาง ต.เกาะแก้ว เทศบาลรัษฏา มีราษฎร 183,771 คน และรูปแบบที่ 3 เขตเลือกตั้ง 1 พื้นที่ อ.เมือง ยกเว้นเทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลกะรน มีราษฎร 191,000 คน เขตเลือกตั้งที่ 2 พื้นที่ อ.ถลาง อ.กะทู้ เทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลกะรน มีราษฎร 154,067 คน

“เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับหลายฝ่าย และส่วนตัวเห็นว่า ควรจะเลือกรูปแบบที่ 2 ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมที่ใช้กับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีความเหมาะสมกับสภาพชุมชน ความใกล้ชิด ความสะดวกในการคมนาคม ตลอดจนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ภูเก็ต แม้ปัจจุบันจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งที่ 2 จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ถือว่ามากเกินไป เพราะเกินจากค่าเฉลี่ย ส.ส.1 ต่อจำนวนราษฏรของ จ.ภูเก็ตเพียง 6.51 % เท่านั้น”

นายสรนันท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับรูปแบบที่ 1 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเลือกตั้งให้แก่ ส.ส.บางคนในพื้นที่ที่อาจมีการผันตัวมาสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 เนื่อง ส.ส.ปัจจุบันมีภูมิลำเนาและฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ ต.ฉลอง ต.กะรน ต.ราไวย์ อ.เมือง ทั้ง 3 ตำบลมารวมกันจะทำให้มีราษฏรจำนวน 43,630 คน ส่อให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบและส่อให้เห็นถึงความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งของ กกต.ภูเก็ต รวมทั้งปัญหาการคมนาคมด้วย

ขณะที่นางสดศรี กล่าวว่า ขณะนี้การแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดต่างๆ ที่ส่งให้กับ กกต.กลางพิจารณานั้นยังไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งหลังจากส่งมาครบแล้วจะมีการพิจารณาคัดเลือกแบ่งเขตคาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยการเสนอแบ่งเขตการเลือกตั้งนั้นทางจังหวัดได้มีการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างละเอียดมาแล้วระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามหากมีการยื่นคัดค้านมาทางกกต.กลาง ก็จะนำเรื่องที่ยื่นคัดค้านมาพิจารณาร่วมด้วย และจะเชิญผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเข้าให้ข้อเท็จจริง โดยขณะนี้มีการยื่นคัดค้านเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเข้ามาแล้วจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ภาคใต้นั้นภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่มีการยื่นคัดค้าเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเข้ามา

“ส่วนความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งนั้น ถือว่ามีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว รอเพียงรัฐบาลจะประกาศยุบสภาเมื่อใด โดยที่ผ่านมา กกต.ได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งไ และซักซ้อมความตลอดเวลา นอกจากนี้ยังได้มีการเชิญ กกต.จังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งทุกจังหวัดมาร่วมพูดคุยถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งเรื่องการจัดเวทีกลางและความพร้อมของพรรคการเมืองด้วย”

นางสดศรี กล่าวยอมรับว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เชื่อว่าจะมีการแข่งขันสูง เพราะเมื่อเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ฉะนั้นเชื่อว่าการแข่งขันจะมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทาง กกต.ก็ต้องเตรียมความพร้อมและจะต้องรู้เท่าทัน ดังนั้นหากมีการยุบสภาตามที่รัฐบาลประกาศไว้ รวมถึงเมื่อกฏหมายลูกผ่านการพิจารณาก็ไม่น่าจะมีปัญหา สามารถที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้ แต่ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันในการจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะหากการเมืองไม่นิ่ง การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามนางสดศรี ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการออกระเบียบการเลือกตั้งไม่ให้นำสถาบันมาเกี่ยวข้องขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องของสถาบันนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่อยากให้ดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสถาบันอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว และในส่วนของรัฐธรรมนูญก็ระบุชัดเจนในมาตรา 12 ว่าพระมหากษัตริย์นั้นอยู่เหนือการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น