จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อบจ.ภูเก็ต ร่วมนิสิตจุฬาฯ จัดค่ายเติมฝัน


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายชวลิต ณ นคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ จัดค่ายเติมฝัน จ.ภูเก็ต ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2554 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นโดยมี นายมานพ ลีลาสุธานนท์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต นายอวยพร สกุลตัน ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบจ.ภูเก็ต นายเสถียร แก้วพระปราบ ผู้อำนวยการกองแผน และงบประมาณ อบจ.ภูเก็ต นางรจนา รักแต่งาน นายกสมาคมศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต คณะครู อาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
สำหรับการจัดโครงการจัดค่ายเติมฝัน จังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้ มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมโครงการ จำนวน 230 คน และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 70 คน รวมทั้งสิ้น 300 คน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักเรียนเข้าร่วมโครงการมีเป้าหมายศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และพัฒนาตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเรื่องศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับการสอบวัดความรู้ทางวิชาการ รวมถึงเทคนิค วิธีการต่างๆ ในการเรียน การอ่านหนังสือและทำข้อสอบ อบรมให้ความรู้เพื่อฝึกฝนให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม และกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม เพื่อฝึกฝนให้นิสิตนักศึกษารู้จักการเสียสละและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเป็นการฝึกให้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
ด้านนายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยผ่านการทดสอบความรู้ทางวิชาการ หรือ “Admission” มีอัตราการแข่งขันกันสูง เนื่องจากความสามารถในการรองรับนิสิตนักศึกษาจากแต่ละสถาบันของไทยยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ดังนั้นผู้ที่จะผ่านการทดสอบได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมสำหรับการสอบในทุกๆ ด้าน แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แต่เฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดมีโอกาสทางการศึกษาด้อยกว่านักเรียนในเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุปกรณ์ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญคือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา สิ่งเหล่านี้ทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดขาดแรงจูงใจ และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเท่าที่ควร อีกทั้งยังเกิดความคลุมเครือต่อเป้าหมายทางการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง อันเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น