จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ยันศูนย์ประชุมยังต้องดำเนินการต่อ


เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 54 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ครั้งที่2/2554 โดยมีส่วนราชการการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อาทิ นายพิทักษ์ ดิเรกสุนทร ผู้อำนวยการบริหารที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ตัวแทนจากบริษัท ไท-ไท วิศวกร จำกัด ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ตัวแทนจาก อบต.ไม้ขาว อุทยานแห่งชาติสิรินาถ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ชมรมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอบต.ไม้ขาว ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นต้น ได้ชี้แจงข้อมูลกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ โครงการร่วมกับเอกชน (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่เห็นชอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ของโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯภูเก็ต ได้แก่ ความไม่เหมาะสมของสถานที่ก่อสร้าง เพราะเกรงจะกระทบกับการวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยืนยันร่วมกันว่าบริเวณชายหาดบ้านท่าฉัตรไชยไม่ใช่ที่วางไข่เต่าทะเล แต่จุดที่เต่าทะเลขึ้นวางไข่นั้นจะเป็นบริเวณชายหาดไม้ขาวซึ่งห่างจากจุดที่ก่อสร้างค่อนข้างมาก
ประเด็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะป่าสมบูรณ์ของภูเก็ตอยู่ที่บริเวณป่าเทือกเขาพระแทว อ.ถลาง และต้นไม้ที่พบบริเวณที่จะก่อสร้างศูนย์ประชุมฯนั้นก็เป็นต้นไม้ที่เกิดจากการปลูก นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นป่าชายหาดที่สมบูรณ์ โดยป่าชายหาดสมบูรณ์จะอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ขณะเดียวกันก็ยังมีการยืนยันเกี่ยวกับลักษณะธรณีสัณฐานทางทะเล ซึ่งมีการระบุว่ามีลักษณะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย เพราะลักษณะชายฝั่งเป็นแอ่งลึก มีความลาดชันสูง ไม่เหมาะสมที่จะใช้จัดกิจกรรมสันทนาการและ พักผ่อน ซึ่งได้มีการชี้แจงว่า ในช่วงที่เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 บริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยมาก มีเพียงน้ำเออขึ้นมาเท่านั้น และกรณีที่เกรงว่าจะมีผลกระทบกับประชาชนในฝั่งโคกกลอย จ.พังงานั้น ทางธนารักษ์ได้ประสานไปยัง อบต.โคกกลอย และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ ปรากฏว่าชาวบ้านต้องการที่จะให้มีศูนย์ประชุมฯ เกิดขึ้น เพราะจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทั้งสองจังหวัด
ส่วนของประเด็นความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเกรงจะไปแข่งขันกับภาคเอกชนนั้น ทางองค์กรภาคเอกชนภูเก็ตต่างยืนยันว่า การเกิดขึ้นของศูนย์ประชุมฯ จะเป็นประโยชน์ในภาพรวมกับทั้งจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในฝั่งทะเลอันดามัน เพราะจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปประมาณ 1-2 เท่า และโครงการนี้ก็ไม่ได้แข่งกับเอกชน เนื่องจากห้องประชุมที่มีอยู่จะเป็นขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณ 800 ตร.ม.รองรับผู้เข้าประชุมได้ประมาณ 800 – 1,000 คน แต่ปัจจุบันมีความต้องการห้องประชุมขนาดใหญ่ที่รองรับได้ตั้งแต่ประมาณ 2,500 คนขึ้นไป ประกอบกับที่ผ่านมาเราเสียโอกาสมามากแล้ว
ด้านนายพิทักษ์ ดิเรกสุนทร ผู้อำนวยการบริหารที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ ได้เดินทางลงมาดูสถานที่จริงของการก่อสร้างแล้ว และได้สั่งการให้กรมธนารักษ์เดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากมองว่าเป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์กับภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของข้อมูลที่ได้รับทราบจากส่วนที่เกี่ยวข้องก็จะได้รวบรวม และนำเสนอ สผ.พิจารณาอีกครั้งประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้จะให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายน 2555 และหากไม่มีปัญหาอะไรก็คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2557
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น