จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รมว.คมนาคมแนะทางออกแก้ความล่าช้ารายงาน สวล.



เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 ที่ห้องประชุมท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้มาติดตามปัญหาการขยายท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งบริหารงานโดย บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด โดยมีนายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5, นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, นายวัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการท่าเรือน้ำลึกสงขลาและภูเก็ต, นายวิศิษฐ์ ใจอาจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายก
รัฐมนตรี และคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลและบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต


โดยนายวัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการท่าเรือน้ำลึกสงขลาและภูเก็ต บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าหลักของภาคใต้ เช่น ยางพารา แร่ เป็นต้น และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อปี 2529 และต่อมารัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งบริษัทฯ ชนะการประมูลและได้เข้ามาบริหารงานตั้งแต่ปี 2531 โดยรับผิดชอบบริหารงานและดูแลพื้นที่บนบก เช่น ตัวท่าเทียบเรือ อาคารและสถานที่ ลานพักสินค้า ถนนและสาธารณูปโภคต่างๆ เครื่องมืออุปกรณ์ เรือลากจูง เป็นต้น 


สำหรับพื้นที่ทั้งหมดของท่าเรือมีประมาณ 106 ไร่ มีท่าเทียบเรือ 2 ท่าสำหรับสินค้าทั่วไป ความยาวท่าละ 180 เมตร รวมความยาว 360 เมตร มีโรงพักสินค้าขนาด 3,600 ตรม.ร่องน้ำท่าเรือยาว 1.5 กม.กว้าง 120 ม. ลึก 9 ม. จากระดับน้ำทะเลต่ำสุด ขนาดเรือใหญ่สุดที่รับได้มีความยาวไม่เกิน 210 ม. กว้างไม่เกิน 27.5 ม. กินน้ำลึกไม่เกิน 9.4 ม. มีเครื่องมืออุปกรณ์ประจำท่าเรือ ประกอบด้วย เรือลากจูง 1 ลำ ขนาด 1,600 แรงม้า รถยกสินค้าทั่วไป น้ำหนัก 3 ตัน จำนวน 10 คัน รถยกทั่วไป น้ำหนัก 5- 7 ตัน จำนวน 8 คัน 


ขีดความสามารถในการรองรับสินค้าทั่วไปประมาณ 360,000 ตันต่อปี ผู้โดยสาร (เข้า-ออก) 300,000 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มของสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ซึ่งมีจำนวน 203,652 ตัน เป็น 211,578 ตันในปี 2011 ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ MDF กับยางพาราไปยังอเมริกากับตะวันออกกลาง ขณะที่จำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 2010 อยู่ที่ 164,422 คน เป็น 200,559 คนในปี 2011ทั้งจากเอเชียและยุโรป มีเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 150-200 ลำต่อปี 


ข้อได้เปรียบของท่าเรือภูเก็ต คือ ไม่มีท่าเรือน้ำลึกอื่นในฝั่งอันดามัน ยกเว้นท่าเรือระนอง แต่หากเป็นเรือขนาดใหญ่จำต้องใช้ท่าเรือภูเก็ต, ร่องน้ำมีความลึกที่เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าเทียบได้ ไม่ต้องขุดลอกบำรุงรักษามาก, บริษัทฯ มีประสบการณ์ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น และยังบริหารท่าเรือสงขลาด้วยและท่าเรือมีพื้นที่ใช้สอยที่สามารถขยายเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกมาก ส่วนของจุดอ่อน คือ การออกแบบมาเป็นท่าเรือสินค้า ไม่ใช่ท่าเรือโดยสาร แต่ปัจจุบันเป็นท่าเรือโดยสารหลักของภาคใต้ฝั่งอันดามัน, ความยาวหน้าท่ายาวไม่สามารถเทียบเรือขนาดใหญ่ได้พร้อมกัน 2 ลำ เรือโดยสารมี berth priority เหนือเรือสินค้า ทำให้เรือสินค้าต้องทิ้งสมอคอย, พื้นที่ใกล้เคียงท่าเรือไม่มีฐานสินค้า เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องพึ่งสินค้าจากพื้นที่ห่างไกล 


อย่างไรก็ตามนายวัฒนชัย กล่าวว่า ปัญหาหลักของท่าเรือภูเก็ต คือ ความยาวหน้าท่าไม่พอรองรับเรือพร้อมกัน 2 ลำ จึงเกิดความไม่สะดวก กรณีที่มีเรือท่องเที่ยวเข้ามาทำให้เรือสินค้าต้องจอดรอและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ระหว่าง 20,000-30,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับผู้โดยสาร ปัจจุบันต้องใช้วิธีการจัดตั้งเต็นท์บริการชั่วคราว นอกจากนี้การใช้พื้นที่หน้าท่า และเส้นทางจราจรปะปนกับการขนส่งสินค้า ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยและเกิดความล่าช้า นอกจากนี้ในการพัฒนายังมีอุปสรรค คือ การลงทุนสูง โดยเฉพาะในสิ่งอำนวยความสะดวกในน้ำ (wet facilities) และการพัฒนาท่าเรือเพื่อรับเรือท่องเที่ยวทำได้ยาก เนื่องจากใช้ระยะคืนทุนนาน เพราะค่าธรรมเนียมท่าเรือเกี่ยวกับเรือ และผู้โดยสารมีอัตราต่ำ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นนอกเขตท่าเรือ 


นายวัฒนชัย กล่าวว่า แนวทางในการแก้ปัญหาและโครงการพัฒนาท่าเรือภูเก็ตนั้น จะต้องเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว โดยจัดแบ่งพื้นที่ระหว่างสินค้าและผู้โดยสารออกจากกัน และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ขยายความยาวของท่าเทียบเรือออกไปทางทิศใต้อีก 60 เมตร โดยทำเป็นหลักเทียบเรือ (Berthing Dolphin) พร้อมกับสร้างสะพานเชื่อมต่อกับหน้าท่าเดิมก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานก่อสร้างถนนและลานจอดรถสำหรับจอดรถโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้มีการเสนอจัดทำโครงการขยายท่าเรือฯ ดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณา และให้นำกลับมาแก้ไขและจะต้องชี้แจงรายละเอียดในบางประเด็น 


ขณะที่นายจารุพงศ์ กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป ว่า เท่าที่ได้รับฟังพบว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความล่าช้า และรัฐบาลไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมได้ เพราะการพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภูเก็ต แต่ยังมีในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันในคณะรัฐมนตรีแล้ว 


โดยมีแนวคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ควรจะมีการกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขรายงานให้จบโดยเร็ว หรือให้มีการชี้แจงเพียงครั้งเดียวให้จบในทุกประเด็น และควรให้แยกระหว่างโครงการสาธารณะกับโครงการของเอกชน ไม่เช่นนั้นหากใช้เวลานานนับปีก็จะสร้างปัญหาให้กับการลงทุนโดยเฉพาะโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม เช่น การตัดถนนผ่านที่ป่าชายเลน 600 เมตรของภูเก็ต ซึ่งทราบว่าต้องรอมาร่วม 10 ปี จากงบประมาณก่อสร้าง 100 กว่าล้านบาทก็เพิ่มเป็น 200 กว่าล้านบาท และไม่ทันกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งจากปัญหาความล่าช้าในการพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม ทำให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่ในปัจจุบัน 











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น