จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภูเก็ตแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน



เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายเกรียงศักดิ์ ชูชาติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างเทศบาลนครภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


นายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งแต่ละปีหน่วยงานงานต่างๆ ต้องเสียงบประมาณปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคที่เสียหายจากการเกิดน้ำท่วมและพื้นที่เกษตรกรรมที่เกิดจากภัยแล้งเป็นจำนวนมาก ตลอดจนสภาพจิตใจของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้ 


สำหรับในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนหนึ่งจะประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนปัญหาน้ำท่วมจะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย เนื่องจากน้ำไหลลงทะเลไม่ทัน หรือในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ดังนั้นจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดทำโครงการการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระดับจังหวัด 


ซึ่งมีลักษณะแบบ Bottom Up (จากล่างขึ้นบน) ที่มีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ เช่น น้ำท่วม และน้ำแล้ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ เป็นต้น นำไปสู่แผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งของจังหวัด ที่เอาเป้าหมายของพื้นที่เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวง กรมที่รับผิดชอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด รวมถึงใช้เป็นฐานข้อมูลในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


และในวันนี้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะทางจังหวัดภูเก็ต จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความคิดเห็นการบูรณาการแผนและการตรวจสอบแผนงานโครงการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ (แยกเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ) 


นอกจากนี้ยังได้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ สรุปพร้อมพิกัดพื้นที่ประสบภัย จากหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดี คือ การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจพฤติกรรมของน้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมาเก็บไว้ในช่วงน้ำแล้ง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น