จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดอินเดีย-ภูเก็ต จัดพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศ


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 54) ที่ศาสนสถานตันดายูดาปานี (วัดอินเดีย) อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศ ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานโครงการลานบุญ ลานปัญญาของศาสนสถานตันดายูดาปานี (วัดอินเดีย) จัดขึ้น โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคนไทยเชื้อสายฮินดูทมิฬ และผู้นับถือพระพิฆเณศเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดงานดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ชาวไทยทุกเชื้อสายได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความดี ได้เกิดความสามัคคี ปรองดองกันในหมู่คณะ
นายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ศาสนสถานตันดายูดาปานี เป็นชื่อเรียกตามองค์พระประธานตันดายูดาปานี ซึ่งหมายถึงองค์พระขัณฑกุมาร และเหตุอันเนื่องมาจากชาวอินเดียทมิฬที่เข้ามาติดต่อค้าขายและอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น จึงเรียกชื่อศาสนสถานแห่งนี้ว่า วัดอินเดีย โดยปัจจุบันมีคนไทยเชื้อสายฮินดูทมิฬอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตจำนวนประมาณ 2,000 คน บรรพบุรุษมาจากแคว้นทมิฬนาดู ประเทศอินเดียและประเทศมาเลเซีย จึงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ชาวอินเดียทมิฬหรือทมิฬนาดู ลักษณะการแต่งกาย ผู้ชายสวมใส่ผ้าโสร่งสีขาว เป็นเอกลักษณ์ ส่วนผู้หญิงสวมใส่ผ้าส่าหรี
ตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการลานบุญ ลานปัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะพลิกฟื้นวิถีไทยวิถีธรรมในอดีตให้กลับมาสู่สังคมไทย ทำให้คนในสังคมไทยยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม โดยให้มีการพัฒนาคุณธรรมนำความรู้ จึงเปิดพื้นที่ของศาสนสถานให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อเสริมสร้างปัญญาให้กับคนในชุมชน นั่นหมายถึง ลานปัญญา และให้คนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนาสร้างความดี หมายถึง ลานบุญ ในโอกาสต่างๆ เป็นการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยกิจกรรมเพื่อชุมชน จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้นๆ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมที่ประกอบด้วยปัญญาและความดี รวมทั้งการดำรงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ยั่งยืนมั่นคงสืบไป นายประยูร กล่าว
ขณะที่นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ศาสนสถานตันดายูดาปานี ถือเป็นวัดอินเดียแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ ทำให้มองเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตนั้น มีความหลากหลายทางด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพลิกฟื้นนำคุณค่าของวัดมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมลานบุญลานปัญญา เพื่อปรับสภาพศาสนสถานปัจจุบันให้เป็นศูนย์กลาง ระดมคนในชุมชนจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยชุมชนและเพื่อชุมชนให้หันกลับมาใช้พื้นที่ของศาสนสถานเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมสร้างปัญญาและทำกิจกรรมทางศาสนาสร้างความดีในโอกาสต่างๆ ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อชุมชนในเรื่องของคนในชุมชนร่วมกันทำความดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น