จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตปล่อยตัวผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ



เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 54 บริเวณหน้าเรือนจำจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีปล่อยตัวผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พุทธศักราช 2554 พร้อมมอบใบบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องขังด้วย มี พ.ต.อ.ชำนาญ แป้นนาบอน รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.โชติ ชิดไชย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต หัวหน้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ และญาติพี่น้องผู้ต้องขัง เข้าร่วม
ทั้งนี้นายระพินทร์ นิชานนท์ ผู้บัญชาการเรือนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญสมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้น กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ขึ้น ซึ่งในส่วนของเรือนจำจังหวัดภูเก็ต มีผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษจำนวน 450 คน ในจำนวนดังกล่าว จะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เป็นชาย 146 คน หญิง 9 คน รวมทั้งสิ้น 155 คน ส่วนที่เหลือนั้นจะได้รับการลดวันต้องโทษและจำต่อไปจนครบกำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554
“ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวนั้นเป็นผู้ที่ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และจะปล่อยเพิ่มอีก 15 คนในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.54) ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ไม่ต้องการที่จะให้นักโทษที่พ้นโทษไปแล้วกลับมาทำผิดอีก โดยมีการฝึกอาชีพต่างๆ ให้ตามความเหมาะสมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเชื่อม เป็นต้น จึงขอร้องให้สังคมได้ให้โอกาสผู้ที่พ้นโทษไปแล้วในการประกอบอาชีพ เพราะหากสังคมไม่ยอมรับและไม่ให้โอกาสผู้ที่เคยถูกต้องโทษซึ่งบางรายก่อเหตุด้วยความไม่ตั้งใจ ก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้และอาจกลับไปทำผิดอีก” นายระพินทร์กล่าว
ขณะที่นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้โอวาทเพื่อเป็นข้อคิดและเตือนใจแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ว่า ขอให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวได้นำความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษาอบรม การฝึกฝนด้านทักษะอาชีพและการใช้ชีวิตไปใช้ภายหลังจากพ้นโทษ เพื่อจะได้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป สิ่งที่สำคัญ คือ ให้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ขอให้ทุกคนตั้งปณิธานว่าจะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของสังคม และขอให้น้อมนำพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต คือ การรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล ศึกษาหาความรู้ เพื่อรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง รู้รักสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งจะทำให้ชีวิตส่วนตน และครอบครัวมีความผาสุกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ผู้ต้องขังและญาติต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่บางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความยินดีและปราบปลื้มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยนายวิชาญ อาจหาญ อายุ 30 ปี ซึ่งต้องหาในคดีลักทรัพย์ หนึ่งในผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยในวันนี้ได้มีลูกน้อย 2 คน ได้เดินทางมารับพร้อมด้วยภรรยา ซึ่งเมื่อทั้ง 4 ได้เจอหน้ากัน ต่างก็ได้เข้าโผกอดด้วยความยินดี จากนั้นนั้นกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก และหลังจากนี้ก็จะกลับตัวเป็นคนดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น