จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

กมธ.ปปช.พบพิรุธออกเอกสารสิทธิป่าต้นน้ำ



เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต (ปปช.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รองประธานฯ นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และคณะ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท. เป็นต้น ประชุมติดตามผลเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนพื้นที่ป่า สงวนแห่งชาติโดยมิชอบ บริเวณ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมชี้แจงรายละเอียด อาทิ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ตำรวจภูธรภาค 8 เป็นต้น
หลังจากที่คณะทั้งหมดได้เดินทางไปตรวจสอบที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขากมลา หมู่ที่ 1 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น ป่าต้นน้ำอนุรักษ์หรือป่าโซน C และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของน้ำตกกะทู้ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปตรวจสอบการสร้างถนนเพื่อขึ้นไปยังป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา บริเวณซอยพระบารมี 3 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ซึ่งทางเทศบาลเมืองป่าตองได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการก่อสร้างถนนหินคลุกบดอัดแน่นพร้อมรางระบายน้ำ ค.ส.ล.ยาวประมาณ 610 เมตร
อย่างไรก็ตามภายหลังการรับฟังคำชี้แจงและการตอบข้อซักถามของทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า การตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ดังกล่าว เนื่องจากมีกลุ่มประชาชนชาวจังหวัดร้องเรียนว่ามีความพยายามของกลุ่มข้าราชการในจังหวัดภูเก็ตที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพยายามออกเอกสารสิทธิ์โฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขากมลา จำนวนประมาณ 200 ไร่ ซึ่งหากสามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าดิบชื้น และมีผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต จึงต้องลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะสภาพพื้นที่บางส่วนที่มีการขอออกโฉนดไปแล้วเป็นป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์ และมีความลาดชันสูงมาก รวมถึงกรณีการสร้างถนนของทางเทศบาลเมืองป่าตองเพื่อขึ้นไปยังจุดที่มีการพยายามขอออกเอกสารสิทธิ
“จากการที่ได้ดูพื้นที่จริงทำให้เห็นว่า การออกโฉนดหรือการก่อสร้างตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ที่พยายามจะออกโฉนด ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดรับกัน โดยด้านหนึ่งพยายามออกเอกสารสิทธิ ขณะที่อีกด้านหนึ่งพยายามสร้างถนนขึ้นไป ทั้งๆ ที่ถนนที่ก่อสร้างนั้นเป็นหน้าผา ซึ่งชัดเจนว่ามีหลายฝ่ายร่วมมือกันในการพยายามอุบพื้นที่ป่า ทำรีสอร์ทและธุรกิจโดยอาศัยงบประมาณของแผ่นดินประมาณ 3.9 ล้านบาท ทำถนนขึ้นไประยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งเป็นภาษีของราษฎร มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล และไม่ดีเลย”
พล.ต.ท. วิโรจน์ กล่าวว่า ได้ให้ข้อสังเกตไปกับรองผู้ว่าฯ ว่าในการทำถนนขึ้นไปนั้น นอกจากไม่ได้ขออนุญาตป่าไม้ และไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผิดกฎหมายและมีโทษทางอาญาด้วย จึงขอให้ไปดูรายละเอียดในเรื่องนี้ รวมทั้งได้แนะนำให้ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ รวมทั้งจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในพื้นที่ภูเก็ตและส่วนกลางไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ที่กรุงเทพมหานคร ด้วย โดยเรื่องนี้ทางกรรมาธิการฯ จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ประเด็นที่มาการมาติดตามเป็นเรื่องของการออกเอกสารสิทธิและการเตรียมขอออกเอกสารสิทธิในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีการออกไปแล้ว 2 แปลง ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับข้าราชการในจังหวัดหลายหน่วยงาน รวมถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในจังหวัดภูเก็ต และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอออกโฉนดอีกประมาณ 8 แปลง ซึ่งตรวจพบว่ามีการปักมุดแนวเขตแดนไว้แล้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นป่าอนุรักษ์โซนซี และเป็นป่าต้นน้ำของน้ำตกกะทู้ จึงมองว่าเมื่อมีการออกเอกสารสิทธิน่าจะมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
“การขอออกเอกสารสิทธิโยใช้ ส.ค.1 นั้นจะเป็นลักษณะ ส.ค.1บวมทั้งหมด โดยพื้นทื่ ส.ค.1 จำนวน 4 ไร่ แต่กับไปออกถึง 40 ไร่ และที่ 6 ไร่ก็ออกไปเกือบ 57 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการออกเอกสารไปชนกับแนวเขตป่าอนุรักษ์นั้นโดยส่วนใหญ่หากใช้ ส.ค.1 มีจำนวนเท่าใดก็ออกให้เท่านั้น ซึ่งเมื่อตรวจสอบรายละเอียดต่อไปพบว่าทั้ง 10 แปลงนั้นรายชื่อผู้ยื่นขอออกเอกสารสิทธินั้นเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของจังหวัดภูเก็ต และเมื่อมองถึงการสร้างถนนก็ไปตัดผ่านที่ดินดังกล่าวอีก เห็นได้ชัดว่าน่าจะมีความร่วมมือกัน และเป็นขบวนการ แต่ทั้งนี้ในการตรวจสอบก็พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงข้าราชการด้วย และทางกรรมาธิการฯ ก็จะได้เรียกขึ้นไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่กรุงเทพมหานคร”
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตต้องรวมตัวกันในการที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดขายของภูเก็ต เพราะหากสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายด้วยการออกเอกสารสิทธิซึ่งมีทั้งเอกสารบวมและเอกสารบิน ต่อไปภูเก็ตก็เหมือนคนที่ขาดชีวิต แลไม่มีคนมาท่องเที่ยว หากยังปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ เหมือนเป็นการทำลายอนาคตของลูกหลานและเป็นการฆ่าตัวตาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น