จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

พยาบาล มอ.ลงพื้นที่สร้างโมเดลจัดการภัยพิบัติ



เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นางประณีต ส่งสัฒนา รองศาสตราจารย์คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับมือภัยพิบัติสึนามิ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์ทำงานโดยตรง ทั้งในส่วนของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 


จากนั้นกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางทีมแพทย์คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้ทำการวิจัยเรื่อง การจัดการภัยพิบัติของระบบสาธารณสุข กรณีศึกษาประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติในภาคใต้ เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติของระบบสาธารณสุขที่ดี และศึกษาประสบการณ์ปัญหา และข้อเสนอแนะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน 3 พื้นที่ ของจังหวัดภาคใต้ คือภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนการจัดการภัยพิบัติของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่เรื่องของการถ่ายทอด และขยายความรู้นี้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ 


“ได้เชิญผู้บริหารและผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์ทำงานโดยตรง เพื่อสกัดบทเรียนที่ผ่านมารวบรวมเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่รูปแบบโมเดลการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบ แบบไทยๆ เพราะว่าเราเรียนรู้จากต่างประเทศมาเยอะ ซึ่งรูปแบบไทยๆ ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่า ณ ปัจจุบันหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทำให้มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก และได้พยายามที่จะพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการพัฒนาการต่างๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเมื่อมีอะไรใหม่ๆ มากระทบ ย่อมทำให้คนต้องมีการเรียนรู้ เนื่องจากในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องมีการขับเคลื่อนอยู่ต่อเนื่องหลังจากนี้จะได้ไปทำการศึกษาในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลาต่อไป” 


นางประณีต กล่าวอีกว่า นอกจากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว ยังได้ส่งอาจารย์กลุ่มหนึ่งลงพื้นที่ ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ไปพูดคุยกับชาวบ้านผู้ประสบภัยโดยตรงเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่เขาอยากเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้ภาพทั้งจากผู้ปฏิบัติ หรือผู้บริหาร กับภาคประชาชน โดยเน้นเรื่องสึนามิเป็นหลัก แต่อาจจะมีเรื่องแผ่นดินไหวมาเกี่ยวข้องด้วยโดยจะดูความแตกต่างระหว่างแผ่นดินไหวกับสึนามิ 


อย่างไรก็ตามจากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าว พบว่า แผนรับมือภัยพิบัติสึนามิของจังหวัดภูเก็ตมีการซ้อมแผนที่ดีอยู่แล้ว และถือเป็นตัวอย่างในหลายๆ จังหวัด แต่เป็นแผนที่ทำเพียงกลุ่มๆ เดียว ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ ทำให้เวลาเกิดเหตุจริงชาวบ้านไม่ได้ปฏิบัติตามแผน ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนรู้หน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบของตัวเอง ต้องทำให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากทางราชการเพียงอย่างเดียว และต้องมีแผนบูรณาการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง มีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน ขณะที่ปัญหาระบบการสื่อสารจะต้องมีการเปิดช่องทางให้หลากหลายมากขึ้นในช่วงที่เกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน นางประณีตกล่าว 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น