จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภูเก็ตถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้ห้างซุปเปอร์ชีป



เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่ห้องประชุมสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการถอดบทเรียนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ห้างซุปเปอร์ชีป ถ.เทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อกลางดึกของวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา 


โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม อาทิ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น 


ตามที่ได้เกิดเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ชีปและพื้นที่ใกล้เคียง หมู่ที่ 6 ถ.เทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งศูนย์อำนวยการรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ห้างฯ ขึ้นเพื่อบริหารจัดการเหตุ และได้แจ้งยุติสถานการณ์ส่งมอบพื้นที่/ภารกิจให้เทศบาลตำบลรัษฎาดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 


ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าว มีความเสียหายเกิดขึ้น ประกอบด้วย อาคารของห้าง ฯ จำนวน 80 แผนก โกดังสินค้า 2 อาคาร รวมพื้นที่เสียหาย กว่า 25 ไร่ นอกจากนั้นยังมีสถานประกอบการอื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย จำนวน 2 แห่ง รวมถึงบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย 31 ครัวเรือน และประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบเนื่องจากมลพิษและด้านจิตใจ รวมกว่า 86 ครัวเรือน


นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียน ทั้งในส่วนของปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งแสวงหาแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหากมีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ก่อนเกิดเหตุ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์และบุคลากรที่สามารถสั่งการได้ทันที รวมถึงการเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด, ระหว่างเกิดเหตุ 


โดยเน้นระบบการติดต่อสื่อสาร และการบัญชาการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าภาพหลัก หากไม่สามารถรับมือได้ก็จะต้องแจ้งให้ทางจังหวัดทราบและเข้าไปร่วมดูแล, หลังเกิดเหตุ ประกอบด้วย การตรวจสอบมลภาวะ การดูแลด้านสาธารณสุข และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฟื้นฟูด้วย และสุดท้าย การเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 


อย่างไรก็ตามจากบทเรียนในครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอุปกรณ์ในการดับเพลิง ทั้งในส่วนของรถดับเพลิง รถน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งได้สั่งการให้ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปทำการรวบรวมจำนวนรถดับเพลิงและรถน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่จะมีอำนาจสั่งการให้นำอุปกรณ์ต่างๆ ไปใช้ได้ ส่วนของระบบสื่อสาร เนื่องจากพบว่าจะค่อนข้างมีปัญหามาได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ (นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา) ไปเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และในส่วนของหน้างานกรณีเกิดขึ้นจะต้องมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการทันทีเพื่อให้สามารถสั่งการได้ และจะต้องมีแผนที่ของสถานที่มาประกอบด้วย เพื่อให้สามารถเข้าไปทำการดับเพลิงได้ถูกจุดและรวดเร็ว โดยจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถคลี่คลายปัญหาให้เร็วที่สุด รวมทั้งลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย ทั้งนี้จะต้องให้มีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง 


นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับอาคารต่างๆ เช่น โยธาธิการและผังเมือง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น ไปตรวจสอบสถานบริการขนาดใหญ่ว่ามีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการดับเพลิงและการฝึกซ้อมแผนมากน้อยเพียงใด และจะต้องกำชับให้มีการดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น นายไมตรี กล่าว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น