จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

7 วันอันตราย ตาย 5 เจ็บ 33 มีเหตุเกิด 28 ครั้ง



เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 ที่ห้องปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต (POC) ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2557 


โดยมีนางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ และนายจําเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต, นายสันต์ จันทวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภูเก็ต, นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต, นายจตุรงค์ แก้วกสิ รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 


ทั้งนี้ได้มีการสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 ของภูเก็ต วันที่ 2 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย (วันที่ 7 ) ว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 1 ครั้ง ที่บริเวณถนนเทศบาล/อบต. (สามแยกอ่าวปอ) มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ในการบังคับใช้กฎหมาย มีการเรียกตรวจ 5,383 คัน และพบกระทำผิด 371 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ และไม่สวมหมวกนิรภัย โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุสะสม ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2556 – 2 มกราคม 2557 รวม 7 วัน มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 28 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ส่วนของอุบัติเหตุทางทะเลนั้นไม่ปรากฏ 


นายไมตรี กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 28 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิต 5 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โดยในช่วงปีก่อนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย แต่จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยปีก่อนเกิด 27 ครั้ง และผู้บาดเจ็บก็เพิ่มขึ้น โดยปีก่อนมีจำนวน 24 ราย ดังนั้นในส่วนของการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ นั้นก็จะต้องยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง มั่นคงและยั่งยืน 


“ในส่วนของมาตรการต่างๆ จำนวน 9 มาตรการ เช่น ห้ามรถบัส-รถบรรทุกขึ้นเขาป่าตอง, การจำกัดเวลาขึ้นเขาป่าตอง, การตั้งจุดตรวจ, การปรับระบบจราจร เป็นต้น เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น คงไม่เน้นเฉพาะพื้นที่ขึ้น-ลงเขาป่าตองเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย รวมทั้งได้มีมาตรการเพิ่มเติมอีก 10 ข้อ ได้แก่ ขยายระยะเวลาดำเนินการช่วงปฏิบัติการเข้มข้น จากเดิม 7 วันอันตราย เป็น 10 วันอันตราย, บูรณาการตั้งจุดตรวจทั้งด่านนิ่ง (จุดตรวจหลัก) และ ด่านวิ่ง (จุดตรวจเคลื่อนที่) 


รวมทั้งให้สถานีตำรวจภูธรทุกแห่งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เพิ่มความเข้ม, ให้อำเภอและ อปท.ทุกแห่งให้ความสำคัญในการจัดเจ้าหน้าที่/อส./อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ มาประจำจุดตรวจหลักอย่างเต็มกำลัง, ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทราบ เรื่องการนำนวตกรรมใหม่ของจังหวัดภูเก็ตมาใช้ในการป้องปรามการใช้ความเร็วเกินกำหนด, 


ขอให้นายก อปท.ทุกแห่ง แจ้งประชาสัมพันธ์ข่าวสารผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน หอกระจายข่าวเป็นต้น อย่างน้อย 2 ครั้งในห้วง 10 วันอันตราย, ให้สรรพสามิตพื้นที่ภูเก็ต ร่วมกับอำเภอกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางทะเล โดยให้เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต เป็นเจ้าภาพหลักขยายเวลาเพิ่มความเข้มข้นช่วงปฏิบัติการเข้มข้น เช่นเดียวกับทางถนน, 


กำหนดให้มี Morning Meeting เป็นประจำทุกวันที่ห้องประชุม POC ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต, ให้หน่วยงานทุกแห่ง ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาชน กำหนดมาตรการองค์กรของตนเองและเชื่อมโยงมาตรการร่วมกัน เช่น กำหนดบทลงโทษ รางวัลจูงใจ เป็นต้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการด้านการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะนำไปใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ด้วย นายไมตรีกล่าว 


ขณะที่ พ.ต.ท.รุ่งฤทธิ์ รัตนภักดี สารวัตรจราจร สภ.เมืองภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้มีการนำกล้องตรวจจับความเร็วมาติดตั้งแล้ว จำนวน 4 จุด คือ บริเวณถนนบายพาสจำนวน 2 จุด ทั้งขาเข้าและออก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งได้มีการส่งหมายเรียกไปยังผู้ที่ขับขี่รถที่ใช้ความเร็วเกินกำหนด คือ เกินกว่า 90 กม/ชม.ไปแล้วประมาณ 10 ราย นอกจากนี้ทราบว่ายังมีการติดตั้งในพื้นที่ อ.ถลาง จำนวน 2 จุด ทั้งขาเข้าและออก ซึ่งการติดตั้งดังกล่าวได้รับงบประมาณจาก ครม.สัญจร ปี 54 - 55 เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น