จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตใช้งบ 7.8 ล.จัดงานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ปี 54


นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ทางจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน สนับสนุนงบประมาณรวม 7.8 ล้านบาท จัดงานวัฒนธรรม ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ประจำปี 2554 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตในการปกป้องรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ตลอดจนกระตุ้นให้คนในชาติให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ของจังหวัดและประเทศด้วย ในระหว่างวันที่ 5 – 19 มีนาคม 2554 นี้

ขณะที่นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ภูเก็ต ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมการจัดแสดง แสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ถลาง กล่าวว่า ทาง อบจ.ภูเก็ต กำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวันชนะศึกของสองวีรสตรี ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ประจำปี 2554 ในระหว่างวันที่ 13 – 15 มีนาคม 54 ณ อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา เทิดทูนวีรกรรมอันหาญกล้าของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำเอาประวัติศาสตร์คู่บ้าน คู่เมืองมาเป็นสื่อในการนำเสนอเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง

“การแสดง แสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว ในปีนี้มีการปรับปรุงฉากใหม่ทั้งหมด ในส่วนของนักแสดงจะมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมแสดงเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นายอำเภอกะทู้ แสดงเป็นพระเจ้าปดุง แม่ทัพพม่า นางสาวนิตยา ยั่งยืน แสดงเป็นท้าวเทพกระษัตรี นางสาวปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ. ภูเก็ต แสดงเป็นท้าวศรีสุนทร เป็นต้น โดยใช้ผู้แสดงกว่า 1,000 คน มีทั้งหมด 12 ฉาก ใช้เวลาแสดง 1 ชั่วโมงครึ่ง เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 – 21.30 น.”

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากการแสดงละอรอิงประวัติศาสตร์แล้ว ภายในบริเวณงานยังมีการแสดงมหรสพพื้นบ้านและการละเล่นต่างๆ ทั้ง การแสดงมโนราห์ การแสดงสีข้าว ตำข้าวโบราณ การทำอาหาร และขนมพื้นบ้าน, การแสดงกีฬาพื้นบ้าน ได้แก่ ไก่ชน เล่นสะบ้า, การแสดงศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ร่วมสมัย ได้แก่ การแสดงทหารสมัยโบราณ การแสดงฟันดาบ การแสดงตีกลองศึกบริเวณซุ้มประตูงาน และการออกร้านจำหน่ายอาหาร 48 ร้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 24 ร้าน

สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย พิธีอุปสมบทหมู่พระภิกษุสงฆ์ ในระหว่างวันที่ 5 – 19 มีนาคม 2554 ที่วัดลัฎฐิวนาราม กิจกรรมทัวร์แหล่งประวัติศาสตร์ถลาง ในระหว่างวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2554 พิธีบวงสรวงปู่ยา ตายาย บรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง วันที่ 12 มีนาคม 2554 ที่วัดม่วงโกมารภัจจ์ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนบนเส้นทางประวัติศาสตร์ถลาง ขบวนรถแห่ประชาสัมพันธ์การจัดงานฯ ขบวนรถมอเตอร์ไซด์ (บิ๊กไบท์) การแข่งขันจักรยานคันทรีคลอส บนเส้นทางประวัติศาสตร์ถลาง ตลอดจนพิธีวางพวงมาลาและพิธีสดุดีวีรกรรม ในวันที่ 13 มีนาคม 2554 และการแสดงแสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ถลาง บริเวณพื้นที่อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก ในวันที่ 13 – 15 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น