จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วชิระภูเก็ตพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่


 
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ “พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพในสถานประกอบการปี 2554 จังหวัดภูเก็ต” ซึ่งทางกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้าน อาชีวอนามัยความปลอดภัย รวมทั้งกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานไปปรับใช้ในสถานประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือให้มีระบบการดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการประกอบอาชีพอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว โดยมี นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพระดับบริหาร และระดับหัวหน้างานในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมจำนวน 120 สถานประกอบการ

นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตมีจำนวน 8,326 แห่ง มีผู้ประกันตนจำนวน 109,866 คน มีการนำนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ผู้ประกันตน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ มีหน้าที่ ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน การประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการแนะนำอบรมลูกจ้างเพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงาน
“จากข้อมูลรายงานประจำปี กองทุนเงินทดแทนปีล่าสุดพบว่า มีผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือบาดเจ็บจากการทำงานเกือบ 2 แสนรายหรือประมาณ 3% ของผู้ประกันตนทั้งหมด โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตคาดว่าจะมีผู้ป่วยจากการทำงานปีละประมาณ 3,000-4,000 คน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาปัญหา ประเมินความเสี่ยง และหามาตรการในการควบคุมแก้ไขปัญหาความเสี่ยงในสถานประกอบการ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานลงได้”
นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลนั้นมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ความรู้ทางวิชาการเป็นหลัก โดยโรคที่พบค่อนข้างบ่อย เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อฉีกขาด เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้หากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องก็จะสามารถป้องกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถลดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยก็จะช่วยลดในเรื่องของการค่าใช้จ่ายที่จะต้องส่งเข้าสมทบกองทุนเงินทดแทนได้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของสถานประกอบการและลูกจ้างเองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น