จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สสจ.เร่งตรวจสอบการใช้ยาล้างไตขับสารเสพติด



นพ.ศักดิ์ แท่นชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตรวจพบนักเรียนในสถานศึกษาแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครภูเก็ตมีปัสสาวะเป็นสีฟ้าซึ่งเป็นผลจากการรับประทานยาล้างไตหรือกลุ่มยาเมธีลิน บลู หลังเสพยาเสพติดหรือสารบางอย่าง เพื่อไม่ให้ตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย เพราะโดยปกติปัสสาวะของคนทั่วไปจะมีสีขาว สีเหลืองหรือสีเหลืองขุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตรวจพบ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจพบว่าผู้เสพยาเสพติด และการใช้ยากลุ่มดังกล่าวจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป 

“เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัด หรือ ศพส.จ.ภก.ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างเข้มข้น โดยจะเข้าไปควบคุมการจำหน่ายยากลุ่มเมธีลินบลู ซึ่งจำหน่ายในร้านขายยาทั่วๆ ไป แต่หากมีการใช้ผิดประเภทจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมพิเศษ โดยจะขอความร่วมมือไปยัง อย.ในการออกเป็นกฎระเบียบเฉพาะในส่วนของจังหวัดภูเก็ต หรือใช้ทั้งประเทศในการควบคุมยาตัวนี้ เพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายโดยทั่วไปและนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์”

นพ.ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปกติคนเราจะปัสสาวะออกมาจะมีสีขาวหรือสีเหลืองหรือสีเหลืองขุ่น แต่หากพบว่านักเรียนมีปัสสาวะสีฟ้า หรือมีการใช้ยาในกลุ่มเมธีลิน บลู ให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่ามีพฤติกรรมส่อพิรุธ อาจจะมีการเสพยาหรือสารบางอย่างเข้าไป จึงต้องมีการกินยาเพื่อให้ไตขับสารดังกล่าวออกมา เพราะปกติแล้วผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มเมธีลินบลูจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และแพทย์ต้องสั่งยา เนื่องจากหากรับประทานไม่ตรงตามแพทย์สั่งอาจจะเป็นอันตรายต่อไตได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีการรับประทานมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไตต้องทำงานหนัก ดังนั้นเมื่อพบว่ามีเด็กหรือเยาวชนไปหาซื้อยาดังกล่าวมากินเอง ให้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติและจะต้องมีการตรวจสอบ ส่วนกรณีที่เด็กรู้ได้อย่างไรนั้นเชื่อว่าต้องมีผู้ให้คำแนะนำ เพื่อปกป้องตัวเองจากการตรวจพบสารเสพติด ซึ่งหากทางโรงเรียนตรวจพบก็จะต้องมีการติดตามว่าเด็กมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวหรือไม่ และมีใบสั่งยาของแพทย์หรือไม่ รวมทั้งซื้อมาจากที่ใด เมื่อทราบรายละเอียดแล้วก็ขอให้ส่งเรื่องมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม นพ.ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปกติการตรวจหาสารเสพตอดจะเน้นกลุ่มของผู้มีปัสสาวะสีม่วง แต่เมื่อมีการหลบเลี่ยงโดยใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อให้มีสีฟ้า ซึ่งก็สามารถที่จะเก็บตัวอย่างของปัสสาวะดังกล่าวไปให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจสอบว่ามีสารเสพติดหรือไม่ และอาจจะตั้งข้อสงสัยกรณีของเด็กหรือเยาวชนที่มีปัสสาวะเป็นสีม่วงไว้ก่อน หลังจากนั้นก็ไปตรวจสอบจากรายชื่อของผู้ป่วยว่ามีโรงพยาบาลใดจ่ายยาให้หรือไม่ หากไม่ใช่โรงพยาบาลก็จะต้องติดตามต่อไปว่ามีร้านขายยาร้านใดจ่ายจ่ายดังกล่าวให้ไป และเมื่อตรวจพบก็ต้องขอความร่วมมืองดจ่ายยาดังกล่าวให้กับเด็กหรือเยาวชนหากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น