จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พ่อค้าแม่ค้าแผงลอยขายอาหารเจร้องผู้ว่า



เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าร้านแผงลอยและล้อเลื่อนขายอาหารเจบริเวณถนนระนอง และบริเวณศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ในช่วงประเพณีถือศีลกินผักในระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคมนี้ ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงสายของวันเดียวกัน (10 ต.ค.55) 


หลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีคณะกรรมการศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งได้ยกสิทธิในการเก็บค่าเช่าการตั้งแผงลอยและล้อเลื่อนให้กับทางเจ้าของบ้านซึ่งแผงลอยหรือล้อเลื่อนไปตั้งวางขายสินค้าหน้าบ้าน เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าเช่าแพงกว่าที่เคยจ่ายให้กับทางศาลเจ้า และบางรายก็จะให้ผู้ค้ารายใหม่มาวางขายสินค้าแทน โดยมีนายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต นพ.โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ตัวแทนจากศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับความเดือดร้อน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 


นพ.โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาทางเทศบาลนครภูเก็ตได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าจำนวนประมาณ 30-40 ราย ซึ่งขายสินค้าในช่วงประเพณีถือศีลกินผักบริเวณถนนระนองและหน้าศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ศาลเจ้าฯ ได้ให้สิทธิเจ้าบ้านที่มีผู้ค้าไปตั้งแผงลอยหรือล้อเลื่อนหน้าบ้านจัดเก็บค่าเช่าเองจากเดิมที่ผู้ค้าจะต้องไปจ่ายให้กับทางศาลเจ้าโดยตรง ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิในการขายสินค้าในปีนี้และปีต่อไป รวมถึงการถูกเรียกเก็บค่าเช่าในราคาที่แพงกว่าที่ศาลเจ้ากำหนดไว้ที่ 1,200 บาทในช่วงเวลา 9 วัน 


“ทางศาลเจ้าฯ ได้ขออนุญาตเทศบาลฯ และตำรวจในการใช้พื้นผิวการจราจรบริเวณถนนระนอง และบริเวณหน้าศาลเจ้าฯ ในช่วงประเพณีถือศีลกินผักเป็นระยะเวลา 9 วัน โดยที่ผ่านมาทางศาลเจ้าจะนำพื้นที่ไปจัดสรรให้กับผู้ค้าและให้ผู้ค้าจ่ายค่าเช่ากับทางศาลเจ้าฯ โดยตรงเพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจการของศาลเจ้าฯ โดยเทศบาลฯ และตำรวจจะมีหน้าที่ในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องสุขาภิบาลและป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่ขายสินค้าที่มีปัญหาก็จะเป็นถนนฝั่งที่มีอาคารร้านค้าหรือที่พักอาศัย ซึ่งผู้ค้าได้ร้องเรียนว่า เมื่อเจ้าของบ้านได้สิทธิแล้วก็จะเอาไปให้กับผู้ค้ารายใหม่และมีการเรียกเก็บค่าเช่าเกินกว่าที่ศาลเจ้ากำหนด” 


นพ.โกศล กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ทางเทศบาลฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วก็ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยายามไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าของบ้านและทางศาลเจ้า เนื่องจากทราบว่าบางรายได้มีการทะเลาะกันอย่างหนัก และไม่ยอมให้ผู้ค้ารายเดิมไปตั้งแผงขายสินค้าหน้าบ้าน ขณะนี้การไกล่เกลี่ยได้ดำเนินการประสบความสำเร็จไปแล้วประมาณ 90% เหลือที่มีปัญหาอยู่อีกประมาณ 10% ซึ่งมีเจ้าของบ้านบางรายยืนยันไม่ยอมให้ตั้งร้านขายสินค้าเพื่อเว้นพื้นที่ไว้สำหรับการตั้งโต๊ะไหว้พระในช่วงที่มีขบวนแห่พระรอบเมือง ขณะที่เจ้าของบ้านบางรายก็บอกว่าจะให้ญาติพี่น้องมาขายแทน ซึ่งก็จะลงไปเจรจาทำความเข้าใจกันต่อไป เมื่อให้เกิดความเรียบร้อย 


ทางด้านนางสาวปัทมา ไทยปิยะ ตัวแทนผู้ค้า กล่าวว่า สิ่งที่ทางผู้ค้าต้องการ คือ 1.อยากให้ทางศาลเจ้าฯ ทำทุกอย่างให้เหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา โดยให้ยังคงขึ้นตรงกับทางศาลเจ้าฯ อย่ายกสิทธิไปให้กับทางเจ้าของบ้าน 2.เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว อยากให้ทางศาลเจ้า และทางเทศบาลฯ ทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ในปีนี้ ผู้ค้าแต่ละรายได้พื้นที่ขายเท่าใด บริเวณหน้าบ้านเลขที่เท่าใด และจะต้องให้สิทธิกับผู้ค้ารายเก่าก่อน 3.ขอให้ทางผู้ค้าชำระเงินค่าเช่ากับศาลเจ้าโดยตรง ตามที่ศาลเจ้าเห็นสมควร และ 4. ขอให้เทศบาลและศาลเจ้าจัดทำตู้ไฟเฉพาะให้กับผู้ค้า เพื่อจะได้ไม่ต้องไปพ่วงไฟฟ้ากับเจ้าของบ้านเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้เนื่องจากมีปัญหากันแล้ว ทั้งนี้สาเหตุของปัญหามาจากทางศาลเจ้ายกสิทธิการเก็บค่าเช่าให้กับเจ้าของบ้าน 


ขณะที่ตัวแทนศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ชี้แจงว่า เหตุที่ยกสิทธิให้กับทางเจ้าของบ้าน เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความสะดวกจากการตั้งแผงลอยบริเวณหน้าร้าน และเกรงอันตรายจากการใช้อุปกรณ์หุงต้ม รวมไปถึงการไม่ดูแลรักษาความสะอาดของผู้ค้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหากันมาทุกปี ขณะนี้ทางศาลเจ้าก็ได้ร่วมกับเทศบาลฯ ในการเจรจากับทางเจ้าของอาคาร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 


อย่างไรก็ตามหลังจากมีการพูดคุยหาข้อสรุปกันนานร่วม 2 ชั่วโมง นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ค้าซึ่งมีการค้าขายกันมานานนับสิบปี แต่เมื่อมีการแย้งเรื่องสิทธิกันขึ้นมาก็ต้องหาทางแก้ปัญหา โดยเฉพาะในส่วนของผู้ค้าที่จะต้องแก้ปัญหาที่ทางเจ้าของบ้านนำมาใช้กล่าวอ้างทั้งเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัยและการเว้นช่องว่างในการเข้าออกบ้าน รวมทั้งมอบหมายให้ทางเทศบาลกับศาลเจ้าไปเจรจากับทางเจ้าของบ้านที่ยังมีปัญหาในส่วนที่เหลือ 

โดยในเรื่องของค่าเช่าก็ให้ไปจ่ายกับทางศาลเจ้าเช่นเดิม เนื่องจากโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้วเจ้าบ้านไม่สามารถเก็บค่าเช่าพื้นที่บริเวณถนนสาธารณะได้ และให้ทางเทศบาลทำความเข้าใจกับเจ้าบ้านด้วย เพื่อความสงบสุขและการสืบทอดประเพณีที่ดีงาม ส่วนกรณีที่ผู้ค้ารายเก่าขอขายสินค้าได้ในปีถัดๆ ไปด้วยนั้น คงไม่สามารถทำได้แต่ให้ว่ากันไปเป็นปีๆ และหลังจากเสร็จสิ้นประเพณีแล้วทุกฝ่ายควรจะมีการประชุมร่วมกันและกำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเหมือนกับที่ผ่านๆ มา 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น