จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาเยือนภูเก็ต



เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 ที่ห้องรับรอง กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง ภูเก็ต พล.ร.ต.ประยุธ ภู่เทียน เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ พล.ร.ต.CHARLES M. GAOUTTE ผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 3 แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และคณะผู้บังคับการเรือ เนื่องในโอกาสที่ เรือรบสหรัฐอเมริกา จำนวน 2 ลำ คือ USS JOHN C STENNIS (CVN 74) และเรือ USS MOBILE BAY (CG 53) เข้าเยี่ยมประเทศไทย 


ซึ่งจอดเรือทอดสมอที่บริเวณอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 7 – 11 ตุลาคม 2555 การเดินทางเข้าเยี่ยมประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อเข้ารับการส่งกำลังบำรุง พร้อมทั้งให้กำลังพลประจำเรือได้พักผ่อนภายหลังจากการปฏิบัติภารกิจในทะเล 


สำหรับเรือ USS JOHN C STENNIS (CVN 74) มีขนาด ดาดฟ้ายาว 1,092 ฟุต กว้าง 257 ฟุต ความสูงวัดจากยอดเสากระโดงเรือถึงกระดูกงู 244 ฟุต หรือเท่าตึกสูง 24 ชั้น ขณะที่ในส่วนของพื้นที่ดาดฟ้าบินมีขนาด 4.5 เอเคอร์ สามารถบรรทุกอากาศยาน ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งทางยุทธวิธี กว่า 70 ลำ และมีน้ำหนัก 97,000 ตัน ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง มีความเร็วสูงสุด กว่า 300 น๊อต 


ภารกิจของเรือ USS JOHN C STENNIS (CVN 74) และกองบินประจำเรือ คือ การปฏิบัติการรบทางอากาศอย่างต่อเนื่องในขณะออกปฏิบัติการในพื้นที่ทั่วโลก กองบินเรือประกอบด้วย 8 – 9 ฝูงบิน โดยมีอากาศยานต่างๆ เช่น F/A-18 Hornet, F/A-18E/F Super Hornet, EA-6B Prowler, E-2C Hawkeye และ MH-60S Seahawk กองบินนี้สามารถทำลายอากาศยาน เรือ เรือดำน้ำ และเป้าหมายทางบกขนาดใหญ่ของฝ่ายศัตรูได้ รวมทั้งวางระเบิดบนพื้นที่ที่ห่างจากจุดที่เรือจอดหลายร้อยไมล์ 


อากาศยานประจำเรือ USS JOHN C STENNIS มีภารกิจในการปฏิบัติการโจมตี สนับสนุนการยุทธภาคพื้น คุ้มครองกองเรือโจมตีหรือเรือพันธมิตรอื่นๆ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นด่านสกัดกั้น ทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยปกติเรือ USS JOHN C STENNIS จะทำหน้าที่เป็นเรือหลักของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีโดยมีผู้บัญชาการ ชั้นยศนายพลบัญชาการจากเรือ USS JOHN C STENNIS และกองเรือจะมีเรือลำอื่นๆ อีกประมาณ 4-6 ลำ 


นอกจากมีสมรรถนะสูงในการเดินเรือแล้ว เรือ USS JOHN C STENNIS ยังมีสมรรถภาพในการซ่อมบำรุง โดยมีแผน Aircraft Intermediate Maintenance ที่มีอุปกรณ์ครบครัน พร้อมด้วยห้องซ่อมเรือจำนวนมาก สำหรับสมรรถนะในการป้องกันตนเอง นอกเหนือจากกองบินและเรือติดตามแล้ว เรือ USS JOHN C STENNIS ยังมีจรวดนำวิถีระยะสั้น NATO Sea Sparrow จรวดนำวิถีRolling Airframe (RAM) ระบบอาวุธ Phalanx Close-in Weapons System และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ SLQ-32 


ทั้งนี้ระหว่างเรือจอดเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต ในส่วนของลูกเรือจะมีการเดินทางขึ้นบก เพื่อไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต โดยจะหมุนเวียนกันขึ้นบกวันละประมาณ 1,000-2,000 คน คาดว่าจะมีรายได้สะพัดในช่วงดังกล่าว ประมาณ 150 ล้านบาท และนอกจากการเดินทางขึ้นไปพักผ่อนบนบกแล้ว ลูกเรือส่วนหนึ่งจะมีการร่วมทำกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ด้วย 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น