จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

อ.เมืองภูเก็ตจับร้านขายยาพร้อมคุม 24 วัยรุ่นทำประวัติ



เมื่อคืนวันที่ 1 มีนาคม 2556 ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต พร้อมด้วยนายธรรมรงค์ ช่วยอักษร ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต น.ส.ดวงใจ ยะสารพันธ์ เภสัชกร 7 ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และสมาชิก อส. ร่วมกันนำตัวเด็กและเยาวชนชาย จำนวน 24 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นชาวพม่า 2 คน มาลงบันทึกทำประวัติ เพื่อนำเข้าสู่ระบบบำบัดต่อไป 


หลังจากที่ทั้งหมดได้เข้าไปซื้อยาแก้ไอในร้านขายยา และยอมรับว่าจะนำไปผสมกับพืชกระท่อม เป็น 4 x100 ก่อนที่จะให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับไป 


สำหรับการควบคุมตัวเด็กและเยาวชนดังกล่าวมาทำประวัติไว้นั้น สืบเนื่องจากเมื่อเวลา 18.30 น.ของวันเดียวกัน จากข้อสั่งการของนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มอบนโยบายการจัดระเบียบสังคม ลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม และการปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล เจ้าหน้าที่ภายใต้การอำนวยการของนายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายสุวัฒน์ บุบผะโพธิ์ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง นำโดยนายธรรมรงค์ ช่วยอักษร ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต น.ส.ดวงใจ ยะสารพันธ์ เภสัชกร 7 ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 พร้อมสมาชิก อส. จำนวน 15 นาย ได้ร่วมกันตรวจสอบร้านขายยาตามคำสั่งนายอำเภอเมืองภูเก็ต กรณีมีการร้องเรียน ว่า ร้านขายยา ชื่อ ฟาร์มาชัวร์ เลขที่ 51 ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต มีการจำหน่ายยาแก้ไอชนิดต่างๆ ให้กับบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมกับสารเสพติดชนิดพืชกระท่อม 


ขณะทำการตรวจสอบพบว่ามี น.ส.มธุรส ชุ่มชื่น รับเป็นลูกจ้างประจำอยู่ที่ร้านดังกล่าว และได้สอบถามว่ามีเภสัชกรหรือไม่ ได้ความว่า มีเภสัชกรแต่ไมได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีเพียงตนเองประจำร้าน และขายยาให้กับบุคคลทั่วไปที่มาซื้อ นอกจากนี้ยังได้สอบถามถึงเวลาเปิดให้บริการของร้านขายยาดังกล่าว ได้ความว่า เปิดในช่วงเย็นไปจนถึงเวลา 19.30 น. และจากการสอบถามรายละเอียดการจัดทำบัญชีซื้อ-ขายยาก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ 


โดยผู้รับอนุญาตให้เปิดร้าน ทราบชื่อนายธีรวัฒน์ คำนิล อายุ 30 ปี อยู่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และเป็นเจ้าของร้านแต่ขณะนั้นไม่ได้อยู่ในร้าน และได้มาให้ปากคำภายหลัง ยอมรับว่าเป็นเจ้าของร้านดังกล่าว โดยเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเภสัชกร จึงได้แจ้งข้อกล่าวหว่า ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันไม่จัดทำบัญชีที่ซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงได้คุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 


ด้านนายศุภชัย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเข้าตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและนายไมตรี อินทุสุตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เรื่องการจัดระเบียบสังคม ลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม และการปราบปรามยาเสพติด ประกอบกับได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าร้านดังกล่าวมีการขายยาแก้ไอให้กับเด็กวัยรุ่น จึงได้สั่งชุดเฉพาะกิจลงไปตรวจสอบ และพบความผิดปกติตามที่ได้รับการร้องเรียน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ปลอมเป็นพนักงานขายซึ่งพบว่าในห้วงระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที มีเยาวชนและบุคคลทั่วไปเข้าไปซื้อเฉพาะยาแก้ไอถึง 24 คน จากการสอบถามผู้ซื้อต่างตอบเหมือนกันว่าจะนำไปผสมกับพืชกระท่อม จากการตรวจบางคนมีการพกใบกระท่อมมาด้วย จึงได้มีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และมีการทำบันทึกประวัติไว้ก่อนที่จะปล่อยตัวกลับไป เพราะไม่มีข้อหาในเรื่องของการซื้อยา


อย่างไรก็ตามนายศุภชัย ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ยาแก้ไอที่มีการตรวจยึดไว้ในครั้งนี้มีจำนวน 700 ขวด ซึ่งตามข้อกำหนดร้านขายยาจะมีสต๊อกยาแก้ไอได้เพียง 300 ขวด ต่อเดือนต่อร้าน โดยในการจับกุมร้านขายยาสามารถทำได้แค่การปรับ ตาม พ.ร.บ. ยา มาตรา 26 (6) ไม่ทำบัญชียาตามกำหนดกฎกระทรวงฯ ปรับ 2,000-10,000 บาท และ มาตรา 32 ห้ามขายยาอันตรายช่วงที่เภสัชกรไม่อยู่ โทษปรับ 1,000 -5,000 บาท และจะต้องส่งเรื่องให้ อย. เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังสภาเภสัชกรรม กว่าจะรู้ผลการลงโทษจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในขณะที่ร้านขายยาก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ ดังนั้นจึงมองว่าแม้จะมีการกวาดล้างจับกุมอย่างต่อเนื่องก็ไม่เป็นผลนัก และไม่มีการเข็ดหลาบเนื่องจากโทษปรับค่อนข้างน้อย ดังนั้นจะได้มีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อหามาตรการดำเนินการทางด้านปกครองต่อไป 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น