จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครือข่ายผู้ปกครองมุสลิมภูเก็ตเรียกร้องทบทวนคำสั่ง



เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 ที่มัสยิดดูไบ ภายในโรงเรียนมุสลิมวิทยา ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต เครือข่ายคณะผู้ปกครองในอดีต-ปัจจุบัน รวมถึงอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดจำนวนหนึ่ง นำโดยนายมาโนช พันธุ์ฉลาด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต


พร้อมด้วยนายรอฉาด ท่อทิพย์ กำนันตำบลป่าคลอก นายสมนึก พาที ผู้ใหญ่บ้าน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง ตลอดจนอิหม่ามหลายมัสยิดในจังหวัดภูเก็ต และนักเรียนโรงเรียนมุสลิมจังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 100 คน ได้รวมตัวกัน เพื่อขอให้คณะกรรมการมูลนิธิมุสลิมวิทยาภูเก็ต ทบทวนและระงับคำสั่งให้นายปริญญา (หรืออิบรอเหม) ประหยัดทรัพย์ ครูโรงเรียนมุสลิมวิทยาภูเก็ต พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป ด้วยมองว่าเป็นการกระทำรุนแรงเกินไป 


และอาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกตามขั้นตอนกฎระเบียบ หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการลาหยุดงาน ในระหว่างวันที่ 18 กันยายน -7 พฤศจิกายน 2555 เพื่อไปปฏิบัติภารกิจในฐานะคณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ และติดประเมินผลการเดินทางประกอบพิธีฮีจย์ของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในเทศกาลฮัจย์ประจำปี 2555 (อ.ศ.) 1433 ตามหนังสือ ฯพณฯจุฬาราชมนตรี อาศีส พิทักษ์คุมพล 


นายปริญญา ประหยัดทรัพย์ ครูผู้ถูกให้ออก กล่าวว่า การเดินทางดังกล่าวได้รับเชิญจากสำนักงานจุฬาราชมนตรี ซึ่งคณะที่เดินทางไปทำอะมีรุ้ลฮัจย์ทั่วประเทศได้รับเชิญเพียง 14 คน ถือว่าเป็นเกียรติของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดภูเก็ตที่ทางสำนักงานจุฬาราชมนตรีได้เล็งเห็นว่ามีความรู้ความสามารถ ส่วนที่มีการปล่อยข่าวโจมตีว่าตนได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 3,100 บาท ตลอดระยะเวลา 49 วันนั้น ถือว่าเป็นการใส่ร้ายให้ได้รับการดูถูก ดูหมิ่นเกลียดชัง


ขณะที่นายมาโนช พันธุ์ฉลาด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การรวมตัวกันนั้น เนื่องจากเห็นว่าการให้นายปริญญา ประหยัดทรัพย์ ออกจากการสอนเนื่องจากการไปทำอะมีรุ้ลฮัจย์ ที่ประประเทศซาอุดิอาระเบียบ ตามคำเชิญของสำนักงานจุฬาราชมนตรี เป็นเวลา 49 วัน ถือว่ารุนแรงเกินไป ความจริงหากมีความผิดก็ต้องมีการลงโทษตามกฎระเบียบ มิใช่มาลงโทษไล่ออกแบบนี้เลย หรือลึกๆ จะมีอะไรแฝงหรือไม่โดยตนเห็นว่า อ.ปริญญา มีความรู้ความสามารถในการสอนลูกศิษย์ 


อยู่กับสถาบันแห่งนี้มา 15 ปี มีลูกศิษย์มากมาย ไม่เคยทำประวัติเสื่อมเสียให้สถาบัน การมาเรียกร้องเพื่อต้องการให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว และภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 จะมีการรวมตัวกันอีกครั้ง หากยังมีการยืนยันว่า ทำตามมติของกฎระเบียบก็สมควรเดินตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องมีการเรียกประชุมคณะกรรมการทุกเดือน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเรียกประชุม เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าคณะกรรมการฯ ไม่ได้ยึดระเบียบในทุกๆ เรื่อง ทำอะไร ต้องมีความถูกต้อง มากว่าความถูกใจ และไม่มีธงในการตัดสิน 


ทางด้านนายสมาน คะนึงการ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านพารา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การรวมตัวกันนั้นเพื่อที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับนายปริญญา ประหยัดทรัพย์ หรือครูอิบรอเหม เพื่อให้ได้กลับมาสอนที่โรงเรียนเหมือนเดิม เพราะครูเป็นคนดี มีวิสัยทัศน์ ทำให้คนมุสลิมมีความรู้ความสามารถ ประกอบกับเป็นครูที่สอนโรงเรียนนี้มานานแล้ว รวมทั้งต้องการให้คณะกรรมการโรงเรียนได้เรียกครูอิบรอเหมมาชี้แจง เพราะในการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมาไม่ได้ให้ครูมาชี้แจงแต่อย่างใด จึงอยากให้ทางโรงเรียนทบทวนคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับครูอิบรอเหมด้วย 


สำหรับนายศรีรัตน์ เกตุเมือง ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนมุสลิม กล่าวว่า การมีคำสั่งให้นายปริญญา ประหยัดทรัพย์ พ้นจากตำแหน่งครูโรงเรียนมุสลิมวิทยาฯ นั้น ทางคณะกรรมการโรงเรียนได้พิจารณาตามกฎระเบียบของโรงเรียนที่กำหนดไว้ว่า ในรอบ 5 ปี ครูหรือบุคลากรของโรงเรียนจะเดินทางไปร่วมประกอบพิธีฮัจย์หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และระเบียบดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2549


และถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นายปริญญาได้เดินทางไปในกิจกรรมพิธีฮัจย์ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ครั้ง และการเดินทางไปครั้งสุดท้ายของนายปริญญาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของโรงเรียนที่ไม่อนุมัติให้เดินทาง ทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหาย ทำให้เสียระบบการบริหารงานบุคคลของโรงเรียน และยังมีครูอีกหลายคนที่ต้องการเดินทางไปประกอบกิจกรรมต่างๆ ในพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันโรงเรียนมีครูและบุคลากรด้านการศึกษาประมาณ 150 คน และนักเรียน 1,700 คน 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น