จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

รองพ่อเมืองภูเก็ตลงพื้นที่ตรวจสอบฝายคลองพี



เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 ที่บริเวณฝายคลองพี หมู่ 5 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม นายเกริกศักดิ์ ลีลานนท์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานภูเก็ต นายจิรวัฒน์ นะมาตรี ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต นายเจริญ เทวบุตร กำนันตำบลฉลอง อ.เมืองภูเก็ต และตัวแทนชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่า ฝายคลองพีดังกล่าวสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ 


สำหรับฝายคลองพี ก่อสร้างโดยโครงการก่อสร้าง 1 สำนักชลประทานที่ 15 เป็นฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดสันฝายสูง 2.70 ม. ยาว 11.80 เมตร พร้อมอาคารประกอบ, ระบบส่งน้ำความยาวรวม 0.887 กิโลเมตร บ่อพัก 1 แห่งขนาด 15 เมตร x 15 เมตร x 15 เมตร และขุดลอกบริเวณหน้าฝายเพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 5 และ 6 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต จำนวน 350 ครัวเรือน ราษฎร 722 คน ให้มีน้ำสำหรับบริโภค-อุปโภคสำหรับการเกษตร 100 ไร่ และอาคารศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร 


วงเงินก่อสร้าง 12,986, 000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ทำการเกษตรให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีจุดบกพร่องหลายจุด เช่น จุดที่ตั้งประตูเปิด-ปิด เพื่อการส่งน้ำ ไม่สามารถใช้การได้ มีการกัดเซาะบริเวณกำแพงด้านท้ายน้ำ เส้นท่อส่งน้ำไม่มีความแข็งแรง ประตูน้ำชำรุด และมีดินไหลลงมาทับที่ประตูน้ำ เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถนำน้ำจากฝายดังกล่าวมาใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 


นายสมเกียรติ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบว่า การลงตรวจสอบพื้นที่ เพราะชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรและทำมาหากินมาเป็นเวลา 40-50 ปี ซึ่งเมื่อทางหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสร้างฝายกันน้ำก็ช่วยในเรื่องของการประกอบอาชีพได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อฝายสร้างเสร็จกลับใช้งานไม่ได้ จากการตรวจสอบพบมีปัญหาหลายจุด ซึ่งได้สั่งการให้โครงการชลประทานภูเก็ตเร่งดำเนินแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ โดยเร็ว เช่น การปลูกหญ้าแฝกกันดินเหนือประตูน้ำ 


เพื่อป้องกันไม่ให้มีดินไหลลงมาทับประตูน้ำ ซ่อมแซมประตูระบายน้ำเพื่อให้ใช้งานได้ ส่วนบริเวณหน้าฝายที่มีการนำหินมาวางเรียงไว้ควรจะมีการเทปูนร่วมด้วยเพื่อให้มีความแข็งแรง แก้ไขระบบท่อส่งน้ำที่ชำรุดและไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ควรเพิ่มจำนวนประตูระบายน้ำให้กับชาวบ้านได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง เป็นต้น โดยการของบประมาณเพื่อแก้ไขโดยตรงจากกรมชลประทาน หรือขอผ่านทางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว 


ขณะที่นายเจริญ เทวบุตร กำนันตำบลฉลอง กล่าวเสริมว่า การสร้างฝายคลองพี ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มีการทำการเกษตรอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยมีทั้งสวนยางพารา และสวนผลไม้ให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งต่อไป แต่ที่ผ่านมามีการชำรุด และไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างก็ค่อนข้างสูง 


ด้านนายจุ้ยเข่ง แซ่ตัน ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ในอดีตเคยใช้น้ำจากลำธารซึ่งมีการนำมาสร้างฝายทำการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2519 แต่เมื่อฝายสร้างเสร็จกลับใช้งานไม่ได้ ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหาด้วยการต่อท่อรับน้ำที่ซึมด้านล่างฝายไปใช้เอง ดังนั้นหากไม่สามารถแก้ไขได้ก็ควรที่จะปรับให้กลับไปอยู่ในสภาพธรรมชาติเหมือนเดิม ชาวบ้านอาจจะลำบากที่ต้องต่อท่อน้ำเองแต่ดีกว่าสร้างฝายแล้วใช้งานไม่ได้เสียงบประมาณไปเปล่าๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น