จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อันดามันทำแผนแม่บทท่องเที่ยวและการค้า



เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่ห้องจามจุรี 2 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและการค้าทางทะเลกลุ่มอันดามัน ซึ่งทางสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้ว่าจ้างบริษัทสแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น เพื่อนำเสนอทิศทางและแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางบก ทางทะเล และทางอากาศ รับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อนำไปสรุปวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำเป็นรายงานการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากความมีเอกลักษณ์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมีแนวเขตติดต่อเชื่อมโยงกันในอันดามันทั้ง 5 จังหวัด (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่และตรัง) มีเกาะแก่ง และแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศ มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับทะเลมากมาย รวมทั้งยังได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนากลุ่มจังหวัดให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก ประตูเชื่อมสู่เศรษฐกิจนานาชาติ แต่จากข้อมูลทางการคมนาคมพบว่ายังไม่มีการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ทำให้ขาดโอกาสในการใช้ศักยภาพในการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเต็มที่
ดังนั้นเพื่อตอบสนองทั้งการเดินทางคมนาคม การท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาเพื่อทำแผนแม่บทการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้ครอบคลุมในทุกประเด็นของการพัฒนาการท่องเที่ยว แนวโน้มการพัฒนา ทิศทางและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของกลุ่มอันดามันในอนาคต รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและประเด็นการเสนอแนะรูปแบบการเชื่อมโยงและเส้นทางการท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามันที่มีศักยภาพการพัฒนา เพื่อการลงทุนและขยาย รวมถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยว และทำให้มีการสร้างสรรค์เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ มีการจัดการด้านความสะดวกและปลอดภัยอย่างมีมาตรฐานสากล นายประเจียดกล่าว
ขณะที่ รศ.ชูวิทย์ สุจฉายา ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาศักยภาพ ปัญหา และข้อจำกัดของพื้นที่ สามารถแบ่งกลุ่มแนวทางการเชื่อมโยงในเชิงพื้นที่ ได้ 3 กลุ่ม คือ อันดามันตอนเหนือ ได้แก่ จ.ระนอง อันดามันตอนกลาง ได้แก่ จ.พังงา ภูเก็ต และกระบี่ อันดามันตอนล่าง ได้แก่ จ.ตรัง
ทั้งนี้ทิศทางและแนวทางการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน แบ่งเป็นอันดามันตอนเหนือซึ่งได้แก่ จ.ระนอง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งจากภูเก็ตสู่ระนอง และชุมพร-ระนอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก อาทิ Medical holiday and vacation หรือรองรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ เช่น Andaman Golden Package เป็นต้น ส่งเสริมสายการบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ระนอง และเพิ่มสายการบินขนาดเล็ก ภูเก็ต-ระนอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวระนอง-มะริด ส่วนอันดามันตอนกลาง ได้แก่ พังงา ภูเก็ตและกระบี่นั้น จะต้องส่งเสริมศูนย์กลางการเดินทางโดยทางอากาศภูเก็ต-กระบี่ สร้างความสะดวกการเดินทางในเขตเมืองภูเก็ต และเชื่อมโยงการเดินทางคมนาคมทางบกไปสู่พังงา (อ่าวพังงา) โดยใช้เส้นทางเดิม และการพัฒนาการเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือขนาดเล็กในบริเวณอ่าวพังงา เพิ่มพื้นที่จอดรถสาธารณะ พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกสู่แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาท่าเรือขนส่งและท่าเรือท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมทั้งจาก จ.กระบี่ จะต้องมีการพัฒนาการเชื่อมโยงทางเรือ จาก จ.กระบี่ สู่เกาะพีพีและเกาะภูเก็ต ส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสำหรับสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่นวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น มายัง จ.ภูเก็ต ขณะที่อันดามันตอนล่าง ได้แก่ จ.ตรัง ซึ่งจะต้องส่งเสริมการเดินทางด้วยเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ตรัง การพัฒนาและส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางออกสู่ทะเลน้อย จ.พัทลุง พัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงทางน้ำระหว่างเกาะภายในจังหวัด รวมถึงพัฒนาท่าเรือขนส่งและท่าเรือท่องเที่ยวภายในจังหวัด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น