จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

งานทอดกฐินสามัคคี ณ วัดในหาน


เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 ที่วัดในหาน ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ จ.ภูเก็ต นางนลินี อัครเดชา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นางเบญจวรรณ ตัมพานุวัตร ประธานมูลนิธิกุศลธรรม นางณัฐพร ผาณิตพิเชฐวงศ์ ประธานชมรมชาวเหนือภูเก็ต-อันดามัน ประชาชนชาวภูเก็ต และผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมกันทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2554 เป็นจำนวนมาก
โดยการทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสมทบทุนก่อสร้างกำแพงแก้วและมณฑปของวัดในหาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ โดยมีพิธีถวายองค์กฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา สาธุชนร่วมกันตักบาตร กรวดน้ำ และถวายภัตตาคารอาหารเพล
การทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ ไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ว่า ครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวา จำนวน ๓๐ รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก ๖ โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้
ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทาง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน และโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน (ตั้งแต่วันแรม๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)
ผ้ากฐิน ผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้นั้น เป็นผ้าใหม่ก็ได้, ผ้าเทียมใหม่ก็ได้, ผ้าเก่าหรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวร ของพระสงฆ์มี ๓ ผืน คือ สบง = ผ้านุ่ง, จีวร = ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ = ผ้าซ้อนห่ม หรือผ้าพาด) ผ้านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด แล้วแต่ตามศรัทธาของผู้ถวาย
การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น