จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภูเก็ตเข้มกวดขันคนเร่ร่อน



นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในจังหวัดภูเก็ต ว่า ด้วยปัจจุบันปัญหาคนเร่ร่อน ขอทานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกับจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงไม่เหมาะที่จะมีภาพลักษณ์เหล่านี้ ทางจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วยตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าพนักงานปกครองอำเภอ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด บ้านมิตรไมตรีภูเก็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการกวดขันคนเร่ร่อน และขอทานในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต ที่มีพฤติกรรมขอเงินจากนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป

โดยขอทานหรือคนเร่ร่อนกลุ่มนี้ มักจะพบเห็นตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด หรือตามตลาดสด ตลาดนัด ซึ่งประชาชนไปจับจ่ายซื้อของ คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพื่อแสวงหารายได้หรือบางรายถูกบังคับขู่เข็ญให้เป็นขอทาน บุคคลเร่ร่อนหรือขอทาน ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนพิการ ผู้สูงอายุ ที่พบส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มีฐานะยากจนหรือคนต่างด้าว ทั้งนี้การประกอบอาชีพขอทานนั้น ถือว่ามีรายได้ที่ดี หลายรายที่กวดขันจับกุมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท

อย่างไรก็ตามจากการกวดขันจับกุมบุคคลเร่ร่อน ขอทาน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 เฉพาะในปี 2554 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 30 ราย สำหรับปี 2555 เดือนมกราคม ได้ออกไปกวดขันในพื้นที่สะพานหิน เทศบาลเมืองกะทู้ วัดฉลอง ตลาดนัดสามกอง ป่าตอง และตลาดนัดหัวสะพานรัษฎา รวม 7 ครั้ง สามารถจับกุมขอทานชาวกัมพูชาได้ 3 ราย เป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 7 ขวบ 1 ราย และเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ชาย 2 ราย ทั้งนี้จากการสอบถามคิดว่าขอทานกลุ่มดังกล่าวอาจจะมีนายหน้าพามาจากต่างประเทศ 

ส่วนการดำเนินการหลังการจับกุม นางสาวชวนชม กล่าวว่า กรณีผู้กระทำผิดและมีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี จะส่งตัวไปสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งภาคใต้ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพื่อการสงเคราะห์และส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมไม่ให้กลับมาขอทานอีก กรณีพบผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะเรียกผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน และปล่อยตัวกลับไป หากไม่มีผู้ปกครองมารับ จะส่งตัวไปสถานแรกรับ คือบ้านพักเด็กและครอบครัวเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กรณีผู้กระทำความผิด มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จะส่งตัวไปศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้การสงเคราะห์ กรณีผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว จะประสานส่งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและผลักดันกลับประเทศต้นทาง กรณีผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่มีโรคติดต่อร้ายแรง เช่นโรคเรื้อน หรือคนวิกลจริต จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม การขอทานจะไม่หมดไปจากจังหวัดภูเก็ต ถ้าทุกคนไม่หยุดให้เงินขอทาน และขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยว ถ้าพบเห็นการใช้แรงงานเด็ก คนเร่ร่อน ขอทาน ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้อยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ ให้แจ้งมาที่เบอร์กลางของศูนย์ประชาบดี 1300 เพื่อเข้าไปดำเนินการกวดขันจับกุมต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น