จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

“ลูกโลมากระโดด” เกยตื้นหาดไม้ขาว



เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 ที่บ่อพักฟื้นและอนุบาลสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน นายก้องเกียรติ กิติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นำลูกโลมากระโดด เพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 1.20 เมตร ซึ่งมาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
และได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากเจ้าของฟาร์มกุ้งในบริเวณดังกล่าวมาทำการอนุบาลที่บ่ออนุบาลกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เนื่องจากมีสภาพอ่อนเพลีย สันนิษฐานว่ามีอาการป่วยและถูกคลื่นทะเลซัดเข้าฝั่ง


นายก้องเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบบาดแผล สาเหตุที่โลมาดังกล่าวเข้ามาเกยตื้นบริเวณชายหาดไม้ขาว เนื่องจากอาจมีอาการติดเชื้อภายใน ส่งผลสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง โดยสามารถที่จะพยุงตัวว่ายน้ำได้ แต่จะมีลักษณะลำตัวเอียงเล็กน้อย ตรวจพบมีตุ่มฝีภายในปาก ซึ่งคงต้องทดลองให้อาหารและรอดูอาการก่อนสักระยะหนึ่ง เชื่อว่าโลมาตัวนี้น่าจะอยู่กับแม่แต่พลัดหลงออกจากฝูงเนื่องจากอาการอ่อนแอและถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง 


ทั้งนี้เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบโลมาชนิดเดียวกันมาเกยตื้นเสียชีวิต 2 ตัว เชื่อว่าโลมาดังกล่าวน่าจะอยู่กันเป็นฝูง ประมาณฝูงละ 20 – 30 ตัว และอาจจะมีฝูงใหญ่ถึง 100 ตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ทะเลลึกนอกชายฝั่ง และเจอได้บริเวณเกาะสาหร่าย เกาะปูยู จ.สตูล และเกาะลังกาวี โดยโลมาเหล่านี้สามารถว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกลๆ เหตุที่มาเกยตื้นบริเวณชายฝั่งเนื่องจากระยะนี้มีคลื่นลมค่อนข้างแรง นายก้องเกียรติกล่าว


อย่างไรก็ตามนายก้องเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากพบโลมากระโดดดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกัน ทางศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเทศบาลตำบลกะรน อ.เมืองภูเก็ต ก็ได้ช่วยเหลือเต่าหญ้า เพศเมียจำนวน 3 ตัว ซึ่งได้รับบาดเจ็บมาเกยตื้นบริเวณชายหาดกะรน โดยตัวหนึ่งอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งขาหน้าทั้งสองขาถูกอวนรัดจนเป็นแผลลึก ตัวที่ 2 อายุประมาณ 8 ปี มีบาดแผลบริเวณขาหน้า และตัวสุดท้าย ขาหน้าซ้ายขาดและขาหลังทั้งสองก็ขาดด้วย สันนิษฐานว่าจะถูกเศษอวนรัดเป็นเวลานาน โดยการรักษาก็จะให้ยาปฎิชีวนะ กรณีที่มีบาดแผลติดเชื้อและทำความสะอาดบาดแผล รวมทั้งให้อาหารเสริม 


ส่วนตัวใดที่มีบาดแผลลึกถึงกระดูกก็จะทำการผ่าตัดและรักษาตามอาการต่อไป นอกจากนี้ทางกลุ่มสัตว์ทะเลหายากยังได้รับการประสานและนำเต่าประเภทเดียวกันอีก 3 ตัว ซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาจากสะพานสารสิน บ่อดานและเกาะพระทอง จ.พังงา โดยได้รับบาดเจ็บในลักษณะเดียวกันมาให้ทำการอนุบาลด้วย ทั้งนี้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีเต่าทะเลที่ขึ้นมาเกยตื้นบริเวณชายหาดต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงาด้วยอาการบาดเจ็บแล้วประมาณ 30 ตัว 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น