จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยถือศีลกินผัก



เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ศักดิ์ แท่นชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมอบรม การคุ้มครองความปลอดภัยจากโรคและภัยอุบัติเหตุในประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ปี 2555 เพื่อลดปัญหาเสี่ยงด้านสุขภาพ ของผู้หามเกี้ยว ม้าทรง ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมและนักท่องเที่ยว โดยมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากศาลเจ้าหรืออ้ามต่างๆ เข้าร่วม 


นายแพทย์ศักดิ์ แท่นชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ประเพณีถือศีลกินผักปีนี้ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม 2555 โดยโรงแรมที่พักต่างๆ จะเต็มไปด้วยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการร่วมประเพณีอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว เพื่อชมพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น การลุยไฟ การขึ้นบันไดมีด ขบวนแห่ของศาลเจ้าต่างๆ การจุดประทัด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่าประเพณีถือศีลกินผักในปีที่ผ่านมา พบว่ามีม้าทรงที่ได้รับการบาดเจ็บจากการใช้อาวุธ ประทัด ควันและเสียงประทัดที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม


“จากการเฝ้าระวังระดับเสียงในผู้สัมผัสเสียงดังจากประทัดในประเพณีถือศีลกินผัก พบว่าบริเวณที่มีเสียงดังมากที่สุด คือ บริเวณที่พิธีแห่พระ ขบวนม้าทรง ผู้ทำหน้าที่แบกเกี้ยว ไต๋เปี้ยและตั๋วเหรียญ ขณะที่มีการแห่ไปรอบๆ ตัวเมือง ผู้ที่สัมผัสเสียงมากที่สุด คือ คนแบกเกี้ยว ม้าทรงและผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ตามลำดับ ส่วนบริเวณศาลเจ้า พบว่า ศาลเจ้าจุ้ยตุ้ยมีระดับเสียงดังมากที่สุด 135 dB (A) เสียงดังเฉลี่ย 122.6 dB (A) วัดจากระยะห่าง 1 เมตร ประทัดจำนวน 3,000 นัด ใช้เวลา 15 วินาที โดยศาลเจ้าจุ้ยตุ้ย จะมีประชาชนนิยมจุดประทัดมากที่สุด รองลงมา คือ ศาลเจ้าปุดจ้อและศาลเจ้ากะทู้ ส่วนศาลเจ้าอื่นๆ มีระดับความดังของเสียงปกติ” นายแพทย์ศักดิ์กล่าว 


ขณะที่นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงประเพณีถือศีลกินผักในปีที่ผ่านมา จากการเก็บสถิติข้องมูลจากโรงพยาบาลต่างๆ พบอาการบาดเจ็บจากการแทงแก้มหรือลิ้น 28 ราย ดาบหล่นใส่มือ 1 ราย ประทัดเข้าตา 14 ราย โดนประทัดไหม้ที่แขนหรือขา 25 ราย เป็นลม 2 ราย ไหม้ฝ่าเท้า 2 ราย สำลักควันประทัด 2 ราย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และธูปที่หน้า 1 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาการบาดเจ็บจากการแทงที่แก้มหรือลิ้นจะเป็นสิ่งที่เจอมากที่สุดในช่วงของเทศกาลถือศีลกินผักทุกปี และเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากในการจำกัดอาวุธที่ใช้แทง 


เนื่องจากว่าเป็นเรื่องของความเชื่อและการแสดงอภินิหารของร่างทรงต่างๆ จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือที่ไม่ใช้อาวุธที่น่าหวาดเสียวจนเกิดไป นอกจากนี้ได้มีการเสนอแนะให้มีการอบรมให้ความรู้พี่เลี้ยงม้าทรงถึงวิธีการแทงที่ถูกวิธี การทำความสะอาดบาดแผล เพราะบนใบหน้าคนเราจะมีเส้นเลือดจำนวนมาก อีกทั้งควรเพิ่มการกระจายกำลังของเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือชุดปฐมพยาบาล ในจุดต่างๆ โดยเฉพาะวันที่มีขบวนแห่พระของแต่ละศาลเจ้า เพื่อดูแลความปลอดภัยของม้าทรงหรือผู้ติดตาม เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินจะสามารถเข้าไปช่วยได้ทันท่วงที 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น