จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พะยูนขนาดใหญ่ถูกใบพัดเรือชาวประมง



เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน พร้อมด้วยนางสาวพัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก จำนวนประมาณ 10 คน ได้นำเรือเร็วและเรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ ออกไปทำการช่วยเหลือพะยูนซึ่งได้รับบาดเจ็บและว่ายน้ำอยู่บริเวณชายทะเลแหลมยามู หน้าโรงแรม THE CAPE YAMU (เดอะเคปยามู) ม. 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้าน เพื่อนำตัวไปทำการรักษาอาการบาดเจ็บ 


นายก้องเกียรติ กล่าวว่า หลังได้รับการประสานจากชาวบ้านเมื่อ 3 วันก่อน ได้มาตรวจสอบและพยายามจะนำตัวไปรักษาที่สถาบันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากพะยูนยังสามารถเคลื่อนตัวไปมาได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีบริเวณกว้าง เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าพะยูนน่าจะมีน้ำหนักประมาณ 250 – 300 กิโลกรัม ยาวประมาณ 2.50 เมตร มีอาการบาดเจ็บที่หัว ลำตัวและหาง คาดว่าน่าจะเกิดจากใบพัดเรือหรืออวนของชาวประมง มีน้ำหนัก แนวทางในการช่วยเหลือพะยูนที่ทำได้ขณะนี้ คือ แจ้งเตือนชาวประมงที่ทำการประมงอยู่ในบริเวณดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และหาอวนมาล้อมพื้นที่ไว้ เพื่อจะได้ทำการฉีดยาปฎิชีวนะ จากนั้นก็จะนำตัวไปรักษาต่อที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยฯ 


นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า เหตุที่พบพะยูนในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต และที่ผ่านมาจะพบฝูงพะยูนเข้ามาหากินหน้าทะเลในบริเวณดังกล่าวประมาณ 6-7 ตัว ดังนั้นจะต้องช่วยกันอนุรักษ์หญ้าทะเลและอนุรักษ์พะยูนให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากจำนวนลดน้อยลง นอกจากนี้หากพบเห็นพะยูนเข้ามาใกล้ฝั่งก็อย่าไปทำร้ายมัน โดยเฉพาะเรือประมงที่แล่นไปมาอยู่ในบริเวณดังกล่าวขอความร่วมมือให้ระมัดระวัง เพราะเครื่องมือประมงหรือใบพักเรืออาจจะไปทำอันตรายพะยูนโดยไม่ตั้งใจได้ 


ด้านนางสตินา ฤทธิ์รักษา อายุ 54 ปี ชาวบ้านที่ทำความสะอาดอยู่หน้าหาดบริเวณดังกล่าว กล่าวว่า เมื่อประมาณ 5 วันที่ผ่านมา เห็นพะยูนจำนวน 3 ตัว เข้ามาอยู่บริเวณชายฝั่งและสามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาอย่างชัดเจน โดยว่ายน้ำวนเวียนอยู่นานนับชั่วโมง จนกระทั่งเห็นพะยูนเหลืออยู่เพียงตัวเดียว คิดว่าน่าจะบาดเจ็บ จึงแจ้งประสานไปยังเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยฯ ให้เข้ามาตรวจสอบและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่าหากไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลมันอาจจะตายได้ รวมทั้งอยากเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์พะยูนฝูงสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตด้วย เพราะขณะนี้หาชมพะยูนได้ยากมาก ยกเว้นบริเวณดังกล่าวที่ยังคงมีหญ้าทะเลสมบูรณ์
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น