จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายของ “พะยูน”



เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ที่บริเวณลานอเนกประสงค์บ่ออนุบาล กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางสาวพัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก จำนวนประมาณ 10 คน ร่วมกันทำการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 40 ปี มีน้ำหนัก 388 กิโลกรัม และยาวประมาณ 2.6 เมตร 


ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากบริเวณส่วนหัวถูกใบพัดเรือบาดเป็นแผลฉกรรจ์ลึกจนถึงกะโหลก จำนวนประมาณ 6 – 7 แผล ขณะว่ายน้ำอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลบริเวณแหลมยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำการช่วยเหลือ และตายในระหว่างนำกลับเข้าฝั่ง เพื่อนำมารักษาพยาบาลที่สถาบันฯ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 พฤศจิกายน เนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว 


สำหรับพะยูนดังกล่าวทางกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบพะยูนได้รับบาดเจ็บและว่ายน้ำอยู่บริเวณหน้าโรงแรมเดอะเคปยามู หมู่ที่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ในช่วง 2-3 วันแรกไม่สามารถนำตัวกลับมาทำการรักษาพยาบาลได้ เนื่องจากพะยูนยังมีการว่ายน้ำเคลื่อนไหวไปมาเป็นบริเวณกว้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็มีการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด 


กระทั่งเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 พฤศจิกายน ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากก็ได้ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งนำเรือออกไปเพื่อทำการช่วยเหลืออีกครั้ง เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าพะยูนเริ่มมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดและไม่สามารถดำน้ำลงไปกินหญ้าทะเลได้ จึงใช้อวนล้อมจับ เพื่อนำตัวมาทำการรักษาพยาบาล แต่ปรากฏว่า พะยูนดังกล่าวทนพิษบาดแผลไม่ไหวและตายในช่วงเย็นของวันเดียวกันระหว่างที่นำกลับขึ้นฝั่ง 


ทางด้านนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าพะยูนดังกล่าวเป็นเพศเมีย อายุประมาณ 40 ปี มีน้ำหนัก 388 ก.ก.ลำตัวยาวประมาณ 2.6 เมตร และมีเขี้ยวงอกแล้ว โดยมีบาดแผลค่อนข้างฉกรรจ์บริเวณหัว ประมาณ 6-7 แผล และบางแผลมีรอยบาดลึกจนถึงกะโหลก คาดว่าน่าจะเกิดจากใบพัดเรือบาดซึ่งเป็นแผลเห็นได้ชัดเจน ส่วนสาเหตุอื่นๆ นั้นจะต้องรอผลจากการผ่าพิสูจน์ซากยืนยันอีกครั้ง 


สถานการณ์พะยูนในทะเลอันดามันปัจจุบันถือว่ามีแนวโน้มที่ค่อนข้างวิกฤต ซึ่งจากการสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อปีที่ 2554 ปรากฎว่าในพื้นที่ จ.ตรังพบพะยูนหากินอยู่ประมาณ 135-145 ตัว ส่วนที่ จ.กระบี่-เกาะศรีบ่อยาพบพะยูนประมาณ 6-15 ตัว และพื้นที่อ่าวพังงาตอนในรวมถึง จ.ภูเก็ต พบประมาณ 10-15 ตัว 


และจากสถิติในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน พะยูนในประเทศไทยตายไปแล้ว 341 ตัว ขณะที่ในปี 2555 พบพะยูนตายไปแล้ว 9 ตัว เป็นพะยูนใน จ.จังหวัดตรัง 8 ตัว และ จ.ภูเก็ต 1 ตัว สาเหตุสำคัญ คือ เครื่องมือการทำประมงประเภทอวนที่ทำให้พะยูนว่ายน้ำเข้าไปติด และไม่สามารถออกมาได้ นายก้องเกียรติกล่าว 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น